ไม่ยกเลิก 30 บาทก็จริง แต่กำลังจะแก้กฎหมายลดสิทธิประชาชนแทน

ไม่ยกเลิก 30 บาทก็จริง แต่กำลังจะแก้กฎหมายลดสิทธิประชาชนแทน

นับตั้งแต่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดบัตรทอง)

 ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขกฎหมายบัตรทองหรือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาต พ.ศ.2545 ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2560 ข่าวความคืบหน้าปรากฎผ่านสื่อน้อยมาก เพราะคณะกรรมการฯ ชุดนี้ทราบดีว่าหากเปิดเผยความเคลื่อนไหว ของการแก้ไขจะเกิดแรงต่อต้านที่รุนแรงตามมา และทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช.ต่อสิทธิ 30 บาทเสียหาย

กระทั่งไฟท์บังคับเมื่อคณะกรรมการฯ ต้องรายงานเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่าบอร์ดบัตรทอง มีการถ่ายทอดสดให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจร่วมรับฟังด้วย

การแก้ไขกฎหมายบัตรทองนี้ตั้งเป้าให้เสร็จภายใน 6 เดือน แต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่าร่างแรกมีหน้าตาอย่างไร มีประเด็นใดบ้างที่ถูกปรับเปลี่ยน และจะส่งผลกระทบด้านบวกหรือลบกับประชาชนอย่างไร

ข้อกังขาของประชาชนคือ ไม่ยกเลิก 30 บาท แต่กำลังจะทำให้ 30 บาทแย่ลงด้วยการลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน และเมื่อมีการแก้ไขกฎหมายที่ทำอย่างปกปิด ก็ทำให้ความระแวงนี้ขยายวงกว้าง

ร่างกฎหมายที่กำลังแก้ไขอยู่นี้ มีประเด็นที่ลิดรอนสิทธิ์ประชาชนเต็มๆ 2 ประการ นั่นคือ

1.เพิกเฉยการแก้ไขกฎหมายให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาที่จำเป็น นับตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาจำเป็นแต่มีราคาแพง ด้วยหลักการบริหารจัดการที่บอร์ดบัตรทองให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยารวมได้ แต่เรื่องนี้ถูกต่อต้านจากกลุ่มผู้ให้บริการมาโดยตลอด แม้จะมีการพิสูจน์ว่าประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณซื้อยาลงได้ถึง 50-80% ก็ตาม 

ล่าสุดคือการมีคำสั่งจาก คตร.ห้ามไม่ให้ สปสช.ทำหน้าที่นี้ โดยบอกว่ากฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้ แต่ปรากฎว่าเมื่อสั่งห้ามไปแล้ว โรงพยาบาลและผู้ป่วยได้รับความเดือดร้อน คสช.จึงกลับลำด้วยการออกคำสั่งมาตรา 44 ให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาได้

แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น คณะกรรมการแก้ไขกฎหมายนี้ไม่ได้แก้ไขให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดซื้อยาได้ ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรทำ

ไม่ใช่แค่ซื้อยา แต่ต้องมีการจัดระบบให้ รพ.มียาใช้ ผู้ป่วยเข้าถึงยา

การทำหน้าที่จัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ สปสช.ทำหน้าที่นี้โดยซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรมมาตั้งแต่ ปี 2553 นั้น ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่ซื้อเท่านั้น แต่มีการบริหารจัดการเพื่อให้ รพ.มียาและเวชภัณฑ์นั้นใช้ และเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาในทุกสถานการณ์ โดยดำเนินการในรูปแบบ VMI หรือการบริหารสินค้าคงคลังร่วมกับองค์การเภสัชกรรม

การจัดหายาระดับประเทศ (Central procurement) นอกจากจะทำให้สามารถต่อรองราคาลงได้ 50-80% และยังมีการจัดระบบการขนส่งยาที่เหมาะสม ถึงแม้ในพื้นที่ห่างไกล หรือในช่วงสถานการณ์พิเศษ เช่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม ลดภาระหน่วยบริการในการจัดหาและสำรองยาและที่สำคัญ คือทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาจำเป็นในเวลาที่เหมาะสม

อีกไม่กี่เดือนก็จะสิ้นปีงบประมาณ 2560 เริ่มปีงบประมาณใหม่ 2561 แล้ว สธ.วางแผนเรื่องนี้ไว้อย่างไร จองยาไว้แล้วหรือยัง ประมาณการขั้นต่ำในการซื้อไว้หรือยัง ถ้ายังไม่ทำ รับรองได้ว่าปี 2561 โรงพยาบาลและผู้ป่วยต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนยาแน่นอน

เรื่องพวกนี้คนนอกกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยรู้ว่าบริหารจัดการกันอย่างไร คนทำงานที่อยู่หน้างานจริงๆ ไม่มีใครกล้าออกมาพูด เพราะกลัวผลกระทบ แม้ รมว.สาธารณสุข จะยืนยันว่าในปี 2561 ที่จะให้ สธ.ทำหน้าที่นี้แทน ผู้ป่วยจะต้องได้รับบริการเท่าเดิมหรือดีกว่า แต่จะมีอะไรการันตีได้ ในเมื่อทุกวันนี้ สธ.ยังไม่เคยแก้ปัญหายาและเวชภัณฑ์ที่มีอยู่

น่ากังขาว่า ในเมื่ออยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ทำไมจึงไม่แก้ให้ สปสช.ทำหน้าที่นี้ได้ทั้งที่เป็นเรื่องที่พิสูจน์แล้วว่า รพ.และประชาชนได้รับประโยชน์จริงๆ แต่กลับไปแก้ไขเรื่องอื่น ที่มีเป้าหมายเพื่อลิดรอนสิทธิ์ประชาชน เพราะมองว่า 30 บาทคือภาระ ทั้งที่องค์การอนามัยโลก และประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน มองว่านี่คือการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติ

เมื่อมองว่าเป็นภาระ รัฐบาลจึงต้องการลดภาระนี้ด้วยการลิดรอนสิทธิ์ประชาชน โดยทำในเรื่องที่ 2 คือ 2.เปลี่ยนบอร์ดที่เป็นตัวแทนประชาชน เป็นบอร์ดที่ลิดรอนสิทธิ์ประชาชนแทน

การเปลี่ยนบอร์ดบัตรทองที่มีเจตนารมณ์สำคัญ ให้ทำหน้าที่เป็นบอร์ดของประชาชน ให้กลายเป็นบอร์ดของตัวแทนผู้ให้บริการไปแทน ด้วยข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขและตัวแทนวิชาชีพใน 2 ประเด็นสำคัญคือ 1.เพิ่มผู้แทนโรงพยาบาลแต่ละระดับและแต่ละสังกัดอีกรวมเป็น 7 คนเข้าไปในในบอร์ด และ 2.ให้ปลัด สธ.เป็นรองประธานบอร์ดบัตรทอง ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่วนใหญ่กลายเป็นมติ 

ขณะที่เสียงของกรรมการจากภาคประชาชน 2 คนที่เป็นเสียงข้างน้อยไม่ได้รับความสำคัญ ทั้งที่เรื่องนี้ควรพิจารณากันบนหลักการที่ถูกต้อง ไม่ใช่การใช้เสียงส่วนมาก

ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัท กรรมการในบอร์ดคือตัวแทนของผู้ถือหุ้น บอร์ดบัตรทอง ก็คือตัวแทนของประชาชน ขณะที่กรรมการที่เป็นตัวแทนประชาชนมีแค่ 5 คน และอีก 4 คนที่เป็นตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตามโครงสร้างก็จะถูกปรับเหลือ 3 ที่เหลือเป็นหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิ แค่สัดส่วนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันการจะพิจารณาทำอะไรเพื่อประชาชนก็ยากเย็นแสนเข็ญอยู่แล้ว เพราะจะถูกขัดขวางโดยตัวแทนของวิชาชีพ 

การยิ่งเพิ่มให้มีกรรมการที่เป็นตัวแทนโรงพยาบาล ก็ทำให้บอร์ดนี้หลุดจากการเป็นตัวแทนของประชาชน และกลายเป็นตัวแทนของเจ้าของโรงพยาบาลและผู้ให้บริการไปเสีย ซึ่งนี่คือการบ่อนทำลายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทางอ้อม และลิดรอนสิทธิ์ประชาชนไปเรื่อยๆ

ขณะที่การให้ปลัด สธ.ทำหน้าที่เป็นบอร์ดบัตรทอง ก็เป็นเรื่องผิดหลักการแบ่งแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการอย่างยิ่ง

บอร์ดบัตรทองที่ควรจะเป็นปากเสียงแทนประชาชน กำลังจะถูกทำให้กลายเป็นปากเสียงของโรงพยาบาลแทน หากปล่อยให้เกิดการแก้ไขเรื่องนี้ สิทธิประชาชนในระบบ 30 บาทจะด้อยไปเรื่อยๆ เพราะตัวแทนโรงพยาบาลย่อมต้องนึกถึงผลประโยชน์ของโรงพยาบาลเป็นอันดับแรก ผลประโยชน์นั้นมีตั้งแต่ โรงพยาบาลให้บริการไม่ไหว งบประมาณน้อย ขอให้บริการแค่นี้ เป็นต้น

และนี่คือหายนะครั้งสำคัญของระบบ 30 บาท การแก้ไขกฎหมายบัตรทองเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวพันกับชีวิตของประชาชน แต่กลับอยู่ในมือของคนไม่กี่กลุ่ม และกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งที่ต้องจับตาและเฝ้าระวังคือ การจัดประชาพิจารณ์แก้กฎหมายบัตรทองที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นเพียงแค่พิธีกรรมเพื่อเป็นตราประทับ ให้กฎหมายบัตรทองฉบับลดสิทธิประชาชนนี้หรือไม่

.......................................................

ประสาร ประดิษฐโสภณ เครือข่ายนักสื่อสารชุมชน