เปิดมุมมองใหม่ การลงทุนไทยในอินเดียเหนือ

เปิดมุมมองใหม่ การลงทุนไทยในอินเดียเหนือ

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาคณะสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี นำโดย นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อัครราชทูต

 ได้มีโอกาสไปสำรวจศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในรัฐอุตตราขัณฑ์ตามคำเชิญของ State Infrastructure and Industrial Development Corporation of Uttarakhand Ltd. หรือ SIIDCUL (ซิดกูล) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 ทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม พัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม (intergrated industrial estate - IIE) และรับผิดชอบการจูงใจด้านภาษี (tax incentive) รวมทั้งให้บริการที่ปรึกษาแก่เอกชนที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม

ในโอกาสนี้ คณะเราได้เข้าพบหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่น่าสนใจหลายแห่ง รวมถึงนายตรีเวนดรา สิงห์ ราวัต (Trivendra Singh Rawat) มุขมนตรีป้ายแดงของรัฐอุตตราขัณฑ์ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ท้องถิ่นระดับรัฐไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งได้พูดคุยกับนายราเจช กุมาร (R. Rajesh Kumar) ซึ่งเป็น Managing Director ของ SIIDCUL

การพูดคุยครั้งนี้ทำให้เราทราบว่า รัฐบาลอุตตราขัณฑ์มีเป้าหมายพัฒนาภาคธุรกิจหลักต่างๆ ของรัฐทั้งด้านเกษตรกรรม การบริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับรัฐอุตตราขัณฑ์ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตในตอนเหนือของอินเดีย ทั้งนี้ การที่รัฐเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงอุตสาหกรรมเมืองอมฤตสร – กัลกัตตา (Amritsar-Kolkata Industrial Corridor Project – AKIC) ซึ่งพาดผ่าน 7 รัฐ ได้แก่ ปัญจาบ หริยาณา อุตตราขัณฑ์ อุตตรประเทศ พิหาร ฌาร์ขัณฑ์ และเบงกอลตะวันตก ก็ช่วยสนับสนุนความมุ่งมั่นดังกล่าว

 อีกปัจจัยที่น่าสนใจ คือ รัฐอุตตราขัณฑ์ยังมีที่ตั้งติดกับรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดในอินเดีย (199 ล้านคน) ด้วยเหตุผลดังกล่าวประกอบกับความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในรัฐอุตตราขัณฑ์จึงมีบริษัทขนาดใหญ่ของอินเดียและต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานการผลิตจำนวนมาก อาทิ Tata Motors, Bajaj Auto, Nestlé, Britania, HP, Ashok Leyland, Delta Power Solutions , Yoyogo Textile (จีน) เป็นต้น

โดยที่ทางคณะได้ขอให้ SIIDCUL ช่วยประสานการพบหารือกับผู้บริหารและเยี่ยมชมศักยภาพโรงงาน เราจึงได้เข้าไปสำรวจศักยภาพนิคมอุตสาหกรรมเมืองปันต์นคร (Pantnagar) ซึ่งเป็น 1 ใน 8 นิคมอุตสาหกรรมที่ SIIDCUL เข้ามาพัฒนา โดยได้พบถึง 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท Tata Motors ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียและมีกิจการทั่วโลก บริษัท Bajaj Auto ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถจักรยานยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก บริษัท Nesté โดยโรงงานแห่งนี้ผลิตสินค้าบริโภคกระจายขายทั่วอินเดียตอนเหนือ เพิ่มเติมจากโรงงานอีก 7 แห่งทั่วอินเดียของ Nesté และบริษัท Delta Power Solutions India ซึ่งเป็นบริษัทที่มีผู้บริหารชาวไทยดูแลอยู่ พวกเราประทับใจในระบบการจัดการโรงงานที่สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยได้มาตรฐานสากล ทั้งการจัดการพื้นที่ ระบบรักษาความปลอดภัย การประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดภาระงาน รวมถึงการดูแลสวัสดิการคนงานอย่างมีมาตรฐาน

นอกจากนี้ ผู้บริหารต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การตั้งโรงงานที่นี่ได้รับการอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่จาก SIIDCUL ตั้งแต่การซื้อพื้นที่ สร้างโรงงาน จัดเตรียมสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟ และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลรัฐอุตตราขัณฑ์ซึ่งเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีบทบาทกำหนดมาตรฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีการลงทุนของไทยในตอนเหนือของอินเดียมากนัก นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย เช่น ในรัฐมหาราษฏระ หรือ รัฐทมิฬนาฑู แต่สถานทูตก็เห็นว่า การขยายการลงทุนมาทางตอนเหนือของอินเดียเป็นก้าวที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจไทย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า ตลาดอินเดียกำลังเติบโต (IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียปี 2561-2562 จะเติบโตถึง 7.7% ) ซึ่งก็รวมถึงตลาดอินเดียตอนเหนือ 

ประกอบกับความพยายามของนายกโมดีที่จะลดอุปสรรคการทำธุรกิจ ทั้งการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน (GST) การปฏิรูปกฎหมายที่ดิน ยิ่งส่งเสริมให้รัฐอุตตราขัณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นอีกพื้นที่เป้าหมายที่น่าจับตา โดยจุดแข็งของรัฐอุตตราขัณฑ์ที่เราประมวลและประเมินออกมา ได้แก่ 

1. ความมุ่งมั่นของรัฐบาลรัฐในการยกระดับและพัฒนารัฐจนประสบความสำเร็จในการเลื่อนอันดับ Ease of Doing Business แบบก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียง 1 ปี 

2. ตำแหน่งที่ตั้งของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลอินเดียและอยู่ใกล้กับตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ อาทิ กรุงนิวเดลีและเขตปริมณฑล รัฐหริยาณา รัฐอุตตรประเทศ และประเทศเนปาล (หลายบริษัทได้ส่งสินค้าข้ามพรมแดนไปขายในเนปาล) 

สาม การที่นายตรีเวนดรา มุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์คนปัจจุบันเป็นนักการเมืองร่วมพรรคที่มีความใกล้ชิดกับนายกโมดี และนายอามิต ชาห์ ประธานพรรคบีเจพี (พรรครัฐบาลของอินเดีย) ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญช่วยสนับสนุนให้รัฐอุตตราขัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งรวมถึงเรื่องการได้รับจัดสรรงบประมาณในการพัฒนารัฐอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย 

และ 4. โยคีอาทิตยนาถ (Yogi Adityanath) มุขมนตรีรัฐอุตตรประเทศคนปัจจุบันก็มาจากพรรคบีเจพีเหมือนกัน จึงมีความเป็นไปได้ว่า ผู้นำของทั้งสองรัฐน่าจะเร่งแก้ไขประเด็นคั่งค้างระหว่างกัน อาทิ การชลประทาน การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาชนบท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐทั้งสองร่วมกันต่อไป

ตอนนี้ SIIDCUL และรัฐบาลรัฐอุตตราขัณฑ์ ฝากมาบอกว่า เขาอ้าแขนรอรับให้ภาคเอกชนไทยเข้ามาลงทุนอย่างเต็มที่ โดย SIIDCUL มีพื้นที่ 200-300 เอเคอร์ (ประมาณ 500-700 ไร่) ที่พร้อมจัดสรรให้ภาคเอกชนไทยมาลงทุนในลักษณะ “Thailand enclave” ในเขตนิคมอุตสาหกรรมในเมืองสีตาร์คัญช์ (Sitarganj) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงนิวเดลีประมาณ 300 กิโลเมตร และห่างจากสนามบินปันต์นครซึ่งเป็นสนามบินที่ใกล้ที่สุดประมาณ 58 กิโลเมตร 

ส่วนพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมปันต์นครที่คณะสถานทูตไปเยี่ยมชมก็ยังมีอยู่ แต่นิคมดังกล่าวได้รับการพัฒนาไปมากแล้ว ราคาพื้นที่จึงสูงกว่ามาก หากนักธุรกิจไทยท่านใดสนใจมาลงทุน สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.siidcul.com และ www.siidculsmartcity.com สถานทูตยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ข้อมูลและช่วยประสานงานเบื้องต้นให้ได้ โดยท่านสามารถส่งอีเมลมาหาสถานทูตได้ที่ [email protected] ค่ะ

.......................................

ปัทมน ปัญจวีณิน

จิตราภรณ์ เลิศทวีวิทย์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี