ไตรกำไรสุทธิ

ไตรกำไรสุทธิ

สำหรับธุรกิจทั่วไปที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องของการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน หรือ การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คำว่า “ไตรกำไรสุทธิ”

อาจจะเป็นศัพท์ใหม่ทางธุรกิจที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

เพราะทราบกันดีว่า เป้าหมายแรกของการทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการทำกำไรจากธุรกิจให้ได้สูงสุดเป็นหลัก แต่ในการทำธุรกิจสมัยปัจจุบันที่มีแนวคิดว่า ธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องมีองค์ประกอบอื่นที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญเพิ่มเติมขึ้นจากความสามารถในการสร้างกำไรแต่เพียงอย่างเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์ประกอบที่เกี่ยวกับด้านสังคม และการตอบแทนในรูปแบบของการคืนกำไรให้กับสังคม

เนื่องจากสังคม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดว่า ธุรกิจใดควรที่จะดำเนินอยู่ต่อไปในสังคมได้ต่อไป เนื่องจากสังคม ซึ่งก็หมายถึงผู้บริโภคโดยทั่วไป ก็คือผู้อุดหนุนคนสำคัญในการซื้อหาสินค้าหรือบริการที่ธุรกิจนำเสนอมานั่นเอง

ธุรกิจที่ไม่สนใจต่อความมั่นคงของสังคม ก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้คงอยู่ได้ต่อไป

ไตรกำไรสุทธิ” (Triple Bottom Lines) เป็นแนวคิดที่จะวัดความสามารถของธุรกิจใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านธุรกิจหรือความสามารถในการทำกำไร และด้านสังคมอีก 2 มิติ ซึ่งได้แก่ความรับผิดชอบต่อสังคม และ ด้านการดูแลทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลก

ซึ่งธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน จะต้องสามารถทำกำไรหรือผลตอบแทนให้ได้พร้อมๆ กันทั้ง 3 ด้าน คือ กำไร สังคม และ สิ่งแวดล้อม ที่มักเรียกกันว่า เป้าหมาย 3P ซึ่งได้แก่ Profit (กำไร), People (มนุษย์) และ Planet (โลก)

ปัญหาที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ ธุรกิจจะใช้เครื่องมืออะไรมาวัดความสามารถในการสร้างผลตอบแทนด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องของกำไรในรูปของผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินจากการดำเนินธุรกิจนั้น สามารถวัดกันได้ด้วย ระบบการทำบัญชีธุรกิจที่รู้จักและใช้กันอยู่ทั่วไป

ทั้งนี้ เนื่องจากความพยายามที่จะวัดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมออกมาเป็นตัวเงินนั้น จะต้องใช้การประมาณการ และการประมาณการนี่เองที่อาจจะไม่ได้รับการรับรองหรือเชื่อถือจากบุคคลอื่น

นักวิชาการด้านการบริหารธุรกิจ จึงมีแนวคิดที่จะวัด “ไตรกำไรสุทธิ” จากตัวเลขที่เป็น ดัชนีชี้วัด แทนการวัดด้วย ตัวเงิน หรือวัดในหน่วยเงิน

ในการสร้าง “ดัชนี” หรือ “ตัวชี้วัด” จึงต้องมีการให้คำนิยามที่ชัดเจนและยอมรับกันโดยทั่วไป แม้ว่าในปัจจุบัน นักวิชาการค่ายต่างๆ ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน 100% ในการเลือกใช้ดัชนี แต่ก็มีกระบวนการที่ยอมรับที่แพร่หลายมากขึ้นว่าสามารถวัด “ไตรกำไรสุทธิ” ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ต้องการ

ดัชนีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีปัญหามากนัก สามารถใช้ตัวชี้วัดที่ยอมรับทางการบัญชีธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้าน รายได้ ค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ หนี้สิน และส่วนทุนของเจ้าของ

ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม จะต้องสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องของผลกระทบต่อแหล่งน้ำ บรรยากาศ และการใช้พลังงานของธุรกิจ ซึ่งธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแต่ละประเภท ก็จะมีน้ำหนักของดัชนีเหล่านี้แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น อัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อัตราการใช้น้ำ อัตราการปล่อยน้ำเสียหรือน้ำทิ้ง อัตราการใช้ไฟฟ้า อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ดัชนีด้านสังคม จะต้องสะท้อนเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมโดยรอบของสถานที่ประกอบธุรกิจ เช่น เรื่องของความเดือดร้อนรำคาญจาก เสียง กลิ่น ควัน ฝุ่นละออง การอุดหนุนช่วยเหลือชุมชนและสังคม การดูแลพนักงานและครอบครัว ในเรื่องของ ค่าจ้างค่าตอบแทนที่เหมาะสม การอบรมให้ความรู้และทักษะในงานเพิ่มเติม สวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่ทำงาน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ด้วยวิธีการใช้ ดัชนีชี้วัดเหล่านี้ แต่ละธุรกิจ สามารถนำไปใช้ในการตั้งเป้าหมาย ติดตามผลสัมฤทธิ์ และหาแนวทางในการปรับปรุงพัฒนากิจกรรมต่างๆ ของ ไตรกำไรสุทธิของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพได้สูงสุด

ธุรกิจก็จะสามารถให้คำตอบกับตัวเองว่า ผลตอบแทนจากการดำเนินธุรกิจ ทั้งในด้าน “กำไร” ด้าน “สังคม” และด้าน “สิ่งแวดล้อม” เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด และมีทิศทางเป็นอย่างไร

ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ ไตรกำไรสุทธิจากการดำเนินการ ก็จะเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของสังคมและผู้บริโภคโดยทั่วไป