สัญญาณความเสี่ยง

สัญญาณความเสี่ยง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 (คสช.) ระบุว่า การตั้งคำถาม 4 ข้อ ให้ประชาชนส่งคำตอบหรือความเห็น มาที่ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ จากนั้นจะรวบรวมเพื่อเป็นข้อเสนอหรือเป็นความเห็นของประชาชนต่อประเด็นดังกล่าว และที่สำคัญนายกรัฐมนตรีระบุว่าจะมีการเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนด้วย และระบุถึงที่ต้องตั้งคำถามทั้ง 4 ข้อ เนื่องจากต้องการตอบโต้นักการเมืองบางกลุ่ม ที่บิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับรัฐบาล และยืนยันอีกไม่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจ ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมพเดิมเพื่อเดินหน้าสู่เลือกตั้ง

คำถาม 4 ข้อ มุ่งไปที่นักการเมืองโดยตรง คือ 1.คิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร 3.การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวโดย ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้น ถูกต้องหรือไม่ และ 4.คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร ซึ่งหากมีประชาชนส่งความเห็นเข้ามาจำนวนมาก ถือว่าจะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจอย่างมาก

การเปิดรับฟังความเห็นโดยตรงจากประชาชนในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสำรวจครั้งใหญ่ของรัฐบาลก็ว่าได้ หากต้องการรู้ถึงความเห็นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล รวมทั้งต่อบรรดานักการเมืองด้วย แต่ปัญหาสำคัญของการรวบรวมความเห็นในครั้งนี้อาจมีการตั้งข้อสงสัยหลายประการถึงผลที่ได้จากการรวบรวมความเห็น อาทิ คนเป็นล้านๆ รัฐบาลจะมีวิธีการรวบรวมและประมวลอย่างไร และสิ่งที่ได้มาผ่านศูนย์ดำรงธรรมนั้นจะมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจง หากต้องการให้เกิดความเชื่อถือของการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้

แน่นอนว่าความคิดเห็นของประชาชน ต่อรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ย่อมมีหลายทางอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งผู้ที่ชื่นชมและผู้ที่คัดค้าน ดังนั้นประเด็นผลสำรวจความเห็นที่ออกมานั้น แทบไม่ต้องกล่าวถึงเลยว่าจะออกมาอย่างไร เพราะไม่ว่าจะออกมาแบบไหน ตำหนิหรือกล่าวชื่นชมนักการเมือง ความเห็นของคนที่ชื่นชอบรัฐบาล และไม่ชอบรัฐบาลก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่าผลสำรวจคือทิศทางทางการเมืองของไทยนักจากนี้ไปมากกว่า เพราะหากดูจากคำถามที่นายกรัฐมนตรีระบุมานั้น ก็สามารถประเมินได้ว่าจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

หากผู้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ต้น ก็จะรู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคสช.นั้นต้องการให้การเมืองไทยไม่กลับไปสู่วงจรแบบเดิม หรือที่พล.อ.ประยุทธ์ระบุไว้ตั้งแต่ช่วงต้นว่าเป็น“ประชาธิปไตยแบบไทย” และหากติดตามการทำงานของการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองนั้นก็จะเห็นว่าส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปฏิรูปการเมืองของคสช.ในครั้งนี้คือกลุ่มนักการเมือง ตั้งแต่นักการเมืองระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ กล่าวคือ นักการเมืองจะถูกคุมเข้มมากยิ่งขึ้นจากกฏกติกาต่างๆ

จากคำถามของนายกรัฐมนตรีข้างต้น ทำให้รู้ว่าจากนี้ไปการเมืองจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองในอดีต ซึ่งการปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ดูเหมือนว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือฝ่ายการเมืองนั่นเอง และประเด็นที่น่ากังวลมากยิ่งกว่านี้คือ หากมีการใช้กฏกติกาการเมืองใหม่ขึ้นมาในอีกไม่นานนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทย ซึ่งจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อนต้านกฏกติกาเหล่านั้นหรือไม่ และยิ่งอ่านจากคำถามของนายกฯก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการปฏิรูปการเมืองใครจะเสียประโยชน์และใครที่กังวลถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างฝ่ายออกกฏกติกากับฝ่ายที่ต้องทำตาม และเป็นความเสี่ยงใหม่ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป