ย่ำอยู่กับที่ แต่ดีขึ้นๆ

ย่ำอยู่กับที่ แต่ดีขึ้นๆ

ย่ำอยู่กับที่ แต่ดีขึ้นๆ

พอดีช่วงนี้ทาง บล.ไทยพาณิชย์ กำลังเตรียมจัดทำบทวิเคราะห์ภาพรวมและแนวโน้มรายไตรมาส เลยถือโอกาสนำเอาเรื่องราว (ดีๆ) ที่เห็นมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้กำลังใจกับนักลงทุนหลายๆ ท่าน ว่าที่ปลายทางยังมีโอกาสที่สดใสรออยู่ และการปรับตัวลงของหุ้นแต่ละระรอก อาจมีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจซ่อนอยู่

มองผิวเผิน SET Index เหมือนจะผันผวนย่ำอยู่กับที่ (-1% ถึง +3% year-to-date, YTD) แต่หากมองในแง่ของความถูกหรือแพงของราคาหุ้น การย่ำอยู่กับที่ดังกล่าว นับว่ายิ่งย่ำ ยิ่งอาการดีขึ้น เพราะแม้ดัชนีตลาดจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่อัตรากำไรต่อหุ้นกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ (ล่าสุด forward earnings หรืออัตรากำไรต่อหุ้นในภาพรวมทั้งตลาด ปรับตัวสูงขึ้นมาราวๆ 4% YTD) ทำให้อัตราส่วน PE Ratio ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ค่า PE หรืออัตราส่วนระหว่างราคาหุ้นต่อกำไร ซึ่งถ้ายิ่งตัวเลขสูงแปลว่าหุ้นยิ่งแพงเมื่อเทียบกับผลประกอบการ และหาก PE ยิ่งต่ำแปลว่าหุ้นยิ่งถูก เมื่อเทียบกับผลประกอบการ)

ล่าสุดค่า PE Ratio ที่เคยอยู่ที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยพอสมควร ตอนนี้ได้ปรับตัวลดลงจนเกือบเท่าค่าเฉลี่ยแล้ว ซึ่งหากอัตรากำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงปรับตัวขึ้นอีก ราคาหุ้นก็มีโอกาสขยับขึ้นสะท้อนผลประกอบการ ซึ่งจะเป็นการปรับตัวขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานที่มีความยั่งยืนกว่าการปรับขึ้นตามแรงเหวี่ยงของกำลังศรัทธา ของนักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไร

คำถามของหลายคนคือ เศรษฐกิจแบบนี้ บริษัทจดทะเบียนจะเอากำไรจากไหนมาเติบโต? ซึ่งตรงนี้นับว่าน่าสนใจเพราะ นักลงทุนอย่างเราๆ ท่านๆ ส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าเศรษฐกิจค่อนข้างจะซบเซา ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะหากดูดัชนีชี้วัดด้านรายได้ พบว่าอัตราค่าจ้าง (wage) ของมนุษย์เงินเดือนทั่วไปมีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ขณะที่หนี้เสียในกลุ่ม SME กำลังเริ่มเป็นที่ต้องจับตามอง สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ตาม ในโลกของบริษัทขนาดใหญ่ แม้จะต้องเผชิญกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ แต่ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนมักทำผลงานได้ดีกว่าเศรษฐกิจโดยรวม ยกตัวอย่างเช่นในอดีต เมื่อก่อนเศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวได้ราว 8% ต่อปี (5% real GDP growth + 3% price increase or inflation) แต่การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนก็สะท้อนในราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 15% (ไม่รวมปันผล) หรือประมาณสองเท่าของเศรษฐกิจ ทั้งนี้เป็นเพราะบริษัทจดทะเบียนอยู่ในภาวะที่ถูกกดดันจากนักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบัน ให้ต้องบริหารงานให้ดีและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง (ดังนั้น อย่าลืมไปใช้สิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อกดดัน เอ้ย! เพื่อให้กำลังใจผู้บริหาร ทุกปีนะครับ)

ทีนี้เรามามองไปข้างหน้า แทบทุกสำนักวิจัยต่างประเมินว่าเศรษฐกิจไทย หรือ real GDP น่าจะขยายตัวได้ ราว 3.0-3.5% ซึ่งเมื่อรวมกับราคาสินค้าที่ปรับขึ้นปีละราว 2% (inflation) ก็จะได้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ราว 5.0-5.5% (in nominal terms) ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะเห็นบริษัทจดทะเบียนมีอัตราการเติบโตของผลประกอบการในระดับ 10% ต่อปี หรือ เกือบสองเท่าของตัวเลขดังกล่าว ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า

ซึ่งหากไม่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำขึ้นมาอีกเราก็น่าจะได้เห็นการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทยในระดับประมาณ 10% ต่อปี (ไม่รวมเงินปันผล) ได้ไม่ยากเช่นกัน ซึ่งหากคิดจากดัชนี SET ที่ 1,560 จุดในปัจจุบัน การที่เราจะได้เห็นดัชนีหุ้นไทยขึ้นไปป้วนเปี้ยนแถว 1,700 จุดในปีนี้ และ 1,800 จุดในปีหน้าก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

เหรียญมีสองด้าน เวลาเรามองราคาสินค้าว่าถูกหรือแพงเราต้องเปรียบเทียบกับคุณประโยชน์ของมันด้วย การมองราคาหุ้นว่าถูกหรือแพงก็เช่นกัน ต้องเทียบกับผลประกอบการหรือกำไรของบริษัทด้วย ดังนั้นการมองตัวเลข 1,700 หรือ 1,800 (ปรับตัวขึ้นราวปีละ 7-10%) ก็นับว่าไม่มากเลย เมื่อเทียบกับผลกำไรที่น่าจะเติบโตได้ 10% ต่อปีได้เช่นกัน