'จะพัฒนาธุรกิจครอบครัว ให้เป็นธุรกิจระดับโลกได้อย่างไร'

'จะพัฒนาธุรกิจครอบครัว ให้เป็นธุรกิจระดับโลกได้อย่างไร'

บทความครั้งที่แล้ว ผมได้นำเสนอนวัตกรรมยุทธศาสตร์ การสร้างความเจริญเติบโต ของธุรกิจครอบครัวเพื่อการสร้างชาติไปส่วนหนึ่ง

ว่า ควรมีการจัดตั้งองค์กรเครือข่ายสำหรับธุรกิจครอบครัว การวิจัยและจัดหลักสูตรเฉพาะสำหรับการบริหารธุรกิจครอบครัว และการพัฒนาระบบสถิติและฐานข้อมูลธุรกิจครอบครัว เพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจไทยให้เติบโตเป็นธุรกิจระดับโลกได้มากขึ้น

ในบทความนี้ ผมจะขอนำเสนอนวัตกรรมยุทธศาสตร์เพิ่มเติม สำหรับธุรกิจครอบครัวเพื่อการสร้างชาติ

การพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการสืบทอดธุรกิจ

ภาครัฐควรกำหนดมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจครอบครัวเตรียมการสืบทอดธุรกิจได้ดีขึ้น เช่น มาตรการเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการถ่ายโอนธุรกิจ การจัดเก็บข้อมูลสถานการณ์การถ่ายโอนธุรกิจ การแพร่กระจายความรู้เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีด้านการสืบทอดธุรกิจ การจัดทำคู่มือและเครื่องมือสำหรับการวางแผนสืบทอดธุรกิจ การสนับสนุนให้มีที่ปรึกษาด้านการวางแผนสืบทอดธุรกิจ การจัดการฝึกอบรมการวางแผนการสืบทอดธุรกิจ และทายาทธุรกิจ อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดตลาดผู้บริหารมืออาชีพ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการแสวงหาผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอก ในกรณีที่ไม่มีทายาท หรือทายาทยังขาดความพร้อม หรือจัดให้มี exit strategy สำหรับธุรกิจที่ไม่มีทายาท เพื่อเอื้อสำหรับการขายหุ้น หรือขายทอดกิจการ เป็นต้น

 การพัฒนามาตรฐานบรรษัทภิบาลสำหรับธุรกิจครอบครัว

การจัดทำมาตรฐานหรือแนวปฏิบัติที่ดีในการกำกับดูแลธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะมาตรฐานในการกำกับดูแลครอบครัว (family governance) ทั้งมาตรฐานสำหรับธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัททั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ประเด็นที่ควรมีในมาตรฐานการกำกับดูแลของธุรกิจครอบครัว เช่น

การจัดตั้งสมัชชาครอบครัว (family assembly) เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างสมาชิกครอบครัว ทั้งการสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องภายในครอบครัว และเรื่องธุรกิจ เพื่อเตรียมสมาชิกครอบครัวให้มีความเข้าใจและพร้อมเข้าร่วมธุรกิจในอนาคต

การแต่งตั้งสภาครอบครัว (family council) ประกอบด้วยตัวแทนของสมาชิกครอบครัวในการกำกับดูแลครอบครัวและธุรกิจครอบครัว ถ่ายทอดคุณค่าและวิสัยทัศน์ และวางแผนร่วมกัน ร่างและแก้ไขธรรมนูญและกฎระเบียบขึ้นใช้ในครอบครัว รวมไปถึงการกำหนดพันธกิจและวางแผนกลยุทธ์ของธุรกิจครอบครัว

การกำหนดธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution) เป็นข้อตกลงร่วมของสมาชิกครอบครัว เช่น หลักเกณฑ์และโครงสร้างการกำกับดูแลครอบครัวและธุรกิจ หลักเกณฑ์การตั้งผู้นำครอบครัวและผู้นำธุรกิจดังตัวอย่างครอบครัว Bonnier ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจสื่อชั้นนำในสวีเดน มีผู้นำครอบครัวและผู้นำธุรกิจคนละคนกัน

 การพัฒนาความเป็นมืออาชีพของธุรกิจครอบครัว

การพัฒนาความเป็นมืออาชีพเป็นไปเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของธุรกิจครอบครัว เช่น การกำหนดให้มีคณะกรรมการบริษัท (Board of directors) และกรรมการอิสระ โดยกำหนดให้มีกรรมการอิสระเข้ามาในคณะกรรมการบริษัท เป็นบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกครอบครัว และไม่ถูกครอบงำจากสมาชิกครอบครัว ให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมของทั้งผู้ที่มีอิทธิพลภายในและภาคนอกบริษัท เป็นต้น

การสนับสนุนการบริหารการเงินที่เหมาะกับธุรกิจครอบครัว

ด้วยเหตุที่การเงินและการลงทุนในธุรกิจครอบครัวมีลักษณะเฉพาะตัว จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านการบริหารการเงินอย่างเฉพาะเจาะจง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมการพัฒนาระบบบัญชีที่โปร่งใส และแยกบัญชีธุรกิจและครอบครัวออกจากกัน กล่าวคือ มีการจัดการการเงินอย่างเป็นทางการ เนื่องจากการบริหารการเงินในธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่มีความซับซ้อน หลายบริษัทไม่มีการแบ่งแยกบัญชีครอบครัวและธุรกิจออกจากกัน ทำให้ไม่สามารถบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขาดความโปร่งใส

นอกจากนี้ การจัดหาและส่งเสริมให้มีแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจครอบครัวเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากธุรกิจครอบครัวต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยไม่สูญเสียอำนาจการควบคุมกิจการ และสอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาว

แนวทางการจัดสรรแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจครอบครัว คือการเพิ่มทางเลือกทางการเงิน นอกเหนือจากเงินกู้จากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีนักลงทุนสถาบัน ที่ต้องการลงทุนระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ และไม่ต้องการเข้ามาร่วมบริหารจัดการธุรกิจ การส่งเสริมให้ธุรกิจครอบครัวออกหุ้นกู้ การส่งเสริมให้มีแหล่งเงินทุน อย่างเช่น angle fund ที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจโดยไม่แทรกแซงการบริหาร เป็นต้น

 การกำหนดมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมธุรกิจครอบครัว

ภาครัฐควรออกแบบระบบภาษีหรือเงินอุดหนุน โดยคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของธุรกิจครอบครัว เช่น 

ภาษีสนับสนุนการนำกำไรหรือเงินปันผลกลับไปลงทุน เนื่องจากธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มเริ่มต้นและขยายธุรกิจโดยอาศัยเงินทุนของครอบครัว และกำไรหรือเงินปันผลที่ได้จากธุรกิจนั้นเอง แต่ธุรกิจที่กู้เงินมาลงทุนสามารถนำรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มาคำนวณเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อลดหย่อนภาษีได้ ขณะที่ธุรกิจที่ลงทุนโดยใช้กำไร เงินปันผล หรือทุนของตนเอง ไม่ได้รับประโยชน์ทางภาษี

มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการสืบทอดทอดธุรกิจ เพื่อให้มาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนธุรกิจหรือทรัพย์สิน ไม่เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลและธุรกิจมากนัก เจ้าของธุรกิจครอบครัวไม่ต้องขายกิจการ เป็นหนี้ ลดขนาดหรือปิดกิจการ

ผู้กำหนดนโยบายการคลังและภาษีควรพิจารณา Total Efficient Tax Rate ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างธุรกิจครอบครัวและไม่ใช่ครอบครัว เช่น ธุรกิจทั้งสองประเภทเสียภาษีแตกต่างกันอย่างไร ธุรกิจทั้งสองประเภทสามารถลดหย่อนภาษีแตกต่างกันอย่างไร และอัตราภาษีที่ธุรกิจครอบครัวต้องเสีย เมื่อมีการถ่ายโอนสู่รุ่นถัดไปเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ เช่น การขายกิจการ การขายหุ้น การปิดกิจการ เป็นต้น

ธุรกิจครอบครัวมีจุดแข็งที่มุ่งสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ด้วยเพราะส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนผ่านเงินทุนครอบครัว การบริหารความเสี่ยงจึงทำอย่างระมัดระวัง รวมไปถึงผู้ประกอบการมีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินใจ ทำให้ลดปัญหาตัวแทน (Agency problem) ธุรกิจครอบครัวยังมุ่งเน้นสร้างและรักษาความสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กร อันก่อให้วัฒนธรรมองค์กรที่มีลักษณะเป็นครอบครัว มีความยืดหยุ่น และรับผิดชอบต่อสังคม

ผมจึงหวังว่าจะเห็นธุรกิจครอบครัวไทยไปไกลในระดับโลก เพื่อจะสามารถช่วยยกระดับและสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้