การบริหารจัดการสต๊อกข้าวจำนวนมหาศาล :

การบริหารจัดการสต๊อกข้าวจำนวนมหาศาล :

สามปีที่ไม่เสียเปล่าของ คสช.

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.)เข้ายึดอำนาจและบริหารประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 มีสต๊อกข้าวตามโครงการรับจำนำที่รัฐบาลชุดก่อนทิ้งเป็นมรดกไว้ให้บริหารจัดการประมาณ 18 ล้านตันเศษ ซึ่งมีปริมาณเกือบเท่ากับครึ่งหนึ่งของปริมาณข้าวทั้งหมดที่ซื้อขายกันทั่วโลกของแต่ละปี สื่อต่างประเทศหลายสำนัก มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สต๊อกข้าวจำนวนมหาศาลดังกล่าว มีผลกดดันต่อราคาข้าวในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นภาระด้านงบประมาณของรัฐบาลในการดูแลรักษาข้าวดังกล่าว จำนวนสูง

สิ่งที่ คสช .ต้องบริหารจัดการ คือระบายข้าวในสต๊อกให้หมดไปโดยเร็ว เพื่อ ลดภาระงบประมาณในการเก็บรักษาและลดความเสียหายจากการเสื่อมคุณภาพของข้าวตามระยะเวลาที่เก็บ และเพื่อไม่ให้มีสต๊อกข้าวที่กดดันราคาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ลำดับแรกของการดำเนินการ คืออนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐที่แต่งตั้งโดยคสช.ได้แต่งตั้งคณะทำงาน ขึ้น 100 ชุด ไปตรวจสอบปริมาณและเก็บตัวอย่างข้าวในที่เก็บอยู่ตามโกดังต่างฯทั่วประเทศตรวจวิเคราะห์ เพื่อทราบปริมาณที่แน่นอนและคุณภาพของข้าวว่าเป็นอย่างไร

ผลการตรวจสอบ ปรากฏว่ามีปริมาณรวม 17.76 ล้านตัน ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างข้าว ปรากฏว่า ในจำนวน 17.76 ล้านตัน มีข้าวที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ประมาณ 14 % ส่วนที่เหลือเป็นข้าวที่ผิดมาตรฐาน โดยบางส่วนเป็นข้าวที่ผิดชนิด เช่นเป็นกองข้าวเหนียว แต่พบว่าเป็นปลายข้าวเหนียวและปลายข้าวขาว ข้าวหอม 5% พบว่าเป็นปลายข้าวหอมและข้าวขาว กอง ข้าวขาว 5% พบว่าเป็นปลายข้าวขาวและมีข้าวนึ่งผสม สำหรับข้าวที่ผิดมาตรฐาน มีทั้งผิดมาตรฐานเพียงเล็กน้อย สามารถแก้ไขปรับปรุงคุณภาพได้ง่าย ไปจนถึงลำดับที่ปรับปรุงคุณภาพได้ยากหรือไม่คุ้มค่าใช้จ่าย บางส่วนเป็นข้าวเสื่อมคุณภาพ เช่น ข้าวยุ่ยเป็นผง เป็นข้าวที่มีกลิ่นสาป เป็นฝุ่น เมล็ดลาย และขึ้นรา ไม่เหมาะแก่การบริโภค

ในการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐดังกล่าว ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคือ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว นบข. มีหน้าที่วางกรอบนโยบาย แผนงาน และมาตรการในการระบายข้าว มีรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.ซึ่งเป็นรองประธาน นบข. เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้พิจารณาสั่งการให้ความเห็นชอบ แทน นบข. คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว มีหน้าที่พิจารณาหลักเกณฑ์ แนวทาง และเงื่อนไขการระบายและการจำหน่ายข้าวของรัฐให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อการผลิตและการค้าข้าวของประเทศ มีกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานปฏิบัติ

การระบายข้าวที่ผ่านมาใช้วิธีการประมูล ซึ่งมีขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการมาก แต่เป็นวิธีที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ การระบายข้าวแต่ละครั้งมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลายประการ ที่สำคัญคือ จะระบายช่วงไหนปริมาณเท่าใด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อตลาดข้าว และต่อราคาข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ของชาวนา จะระบายเป็นการทั่วไปเพื่อการส่งออกและเพื่อการบริโภค หรือจะระบายสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้ข้าวที่ผิดมาตรฐานหรือเสื่อมสภาพไม่เหมาะแก่การบริโภค ไปวนอยู่ในตลาด การส่งออกและเพื่อการบริโภค ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงข้าวไทย จะมีและกำหนดมาตรการในการกำกับดูแลอย่างไรให้ผู้ประมูลได้นำข้าวไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของการประมูลที่เสนอไว้

สำหรับข้าวที่ผิดมาตรฐาน มีทั้งที่ผิดมาตรฐานน้อยปรับปรุงคุณภาพได้ไม่ยาก จนถึงผิดมาตรฐานมากปรับปรุงคุณภาพยากไม่คุ้มค่า ราคาที่จะขายได้ควรเป็นไปตามระดับว่าผิดมาตรฐานน้อยจนถึงผิดมาตรฐานมาก จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบและจัดระดับคุณภาพข้าวในสต๊อกของรัฐ ทำหน้าที่จัดระดับข้าวที่ผิดมาตรฐาน เพื่อให้คณะอนุกรรมการระบายข้าวใช้พิจารณาประกอบการกำหนดเกณฑ์ราคา

ในการระบายข้าวโดยการประมูลที่ผ่านมา มีปัญหาในทางปฏิบัติที่ยุ่งยากมาก เนื่องจากปริมาณข้าวที่มากมหาศาล มีคุณภาพหลากหลาย ซึ่งมีการคาดกันว่าต้องใช้เวลาห้าหกปีจึงจะระบายได้หมด มีกองข้าวที่ผิดมาตรฐานทั้งผิดมากผิดน้อยตั้งกองรวมกันกับกองข้าวที่ถูกมาตรฐานในโกดังเดียวกัน ในการระบายข้าวแต่ละชนิดแต่ละกองต้องคำนึงว่ามีกองข้าวอื่นขวางอยู่ขนย้ายได้หรือไม่

นอกจากนี้ในการระบายข้าวที่ผิดมาตรฐาน ก็มีผู้เรียกร้องว่า กองข้าวที่ผิดมาตรฐานมีข้าวคุณภาพดีปนอยู่ ควรคัดแยกข้าวคุณภาพดีออก จะทำให้ได้ราคาที่สูงกว่าขายเป็นข้าวผิดมาตรฐาน จึงมีการทดลองดำเนินการให้เห็นประจักษ์ ว่าการคัดข้าวต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและเสียเวลามาก จะทำให้การระบายข้าวต้องเนิ่นช้าออกไปเป็นสิบปี ประการสำคัญ การรับข้าวสารตามโครงการรับจำนำเข้าเก็บในโกดังกลาง เป็นหน้าที่ของโรงสี เจ้าหน้าที่คลังสินค้า เซอร์เวย์ที่รับจ้างตรวจสอบคุณภาพข้าว ต้องส่งมอบและรับมอบข้าวที่มีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานทุกกระสอบ ขณะนำข้าวเข้าเก็บในโกดังกลาง ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ระบายข้าว ต้องคัดข้าว เมื่อมีการระบายข้าว

นับตั้งแต่ คสช เข้ามาบริหารประเทศ จนถึงปัจจุบัน ได้ระบายข้าวโดยการประมูลไปแล้ว 26 ครั้ง เป็นข้าวที่ระบายได้รวม 12.24 ล้านตัน ล่าสุดได้จัดประมูลขายข้าว ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2560 เป็นการขายสู่ภาคอุตสาหกรรม มีผู้ประมูลซื้อ 1.7 ล้านตัน หากมีการอนุมัติให้ขาย จะเป็นการระบายข้าวได้รวมทั้งหมด 13.94 ล้านตัน เหลือข้าวในสต๊อกเป็นข้าวที่จะระบายสู่ภาค อุตสาหกรรม เพียง 3.82 ล้านตันซึ่งจะไม่มีผลกระทบกดดันราคาข้าวที่จะออกใหม่แต่อย่างใด นับว่าระบายได้เร็วกว่าที่มีการคาดไว้มาก ถือเป็นข่าวดีต้อนรับวันข้าวและชาวนาแห่งชาติที่จะมาถึงในวันที่ 6 มิ.. 2560 ที่จะทำให้การค้าข้าวของไทยไม่มีสต๊อกข้าวจำนวนมากคอยกดดันราคา อันจะทำให้การค้าข้าวของไทยกลับไปสู่สภาวะปกติ ดังเดิม