ถนนสายนี้ไม่มีทางลัด

ถนนสายนี้ไม่มีทางลัด

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยว มีธรรมชาติสวยงาม ศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

 ค่าครองชีพไม่แพง และคนไทยมีใจเป็นมิตร ผลการสำรวจจากเว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวทั่วโลก จึงโหวตให้ไทยเป็นหนึ่งในสถานที่น่ามาท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของโลก แต่ส่วนที่ยังไม่สามารถเติมเต็มให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเราบรรลุผลได้ 100 % นั่นก็คือ คนไทยยังไม่สามารถบริการได้อย่างเต็มที่ โดยมีอุปสรรคขวางกั้นสำคัญ คือ คนไทยไม่เก่งภาษาอังกฤษ

โลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีภาษาอังกฤษเป็นตัวขับเคลื่อน World Economic Forum รายงานว่า ภาษาอังกฤษในฐานะ “ภาษาของโลก” มีผู้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันมากถึง 335 ล้านคน ใน 110 ประเทศทั่วโลก ประเทศที่ใช้มากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา 225 ล้านคน รองลงมาคือสหราชอาณาจักร 55.6 ล้านคน แคนาดา 19.4 ล้านคน ออสเตรเลีย 15.6 ล้านคน แอฟริกาใต้ 4.9 ล้านคน ไอแลนด์ 4.2 ล้านคน นิวซีแลนด์ 3.8 ล้านคน

พอหันมามองความได้เปรียบที่เรามี คือ ด้านการท่องเที่ยวและบริการ แต่เครื่องมือที่จะสนับสนุนให้ความได้เปรียบของเราเกิดความโดดเด่นนั่นคือภาษาอังกฤษกลับไม่ดี ถูกประเทศเพื่อนบ้านที่เขาเก่งภาษาอังกฤษกว่าแซงหน้าไป

ปัญหาเกิดจากอะไรกันแน่...?

เป็นเพราะเด็กใจไม่ถึง ไม่ยอมทุ่มเทให้กับการเรียนรู้ฝึกฝนอย่างเต็มที่ มองภาษาอังกฤษเป็นเพียงวิชาหนึ่งที่จะต้องสอบให้ผ่านเท่านั้นพอ หรือว่าเป็นเพราะครูบาอาจารย์มือไม่ถึง ไม่สามารถสั่งสอนให้เขาเก่งได้ หรือว่าหลักสูตรเข้าไม่ถึง ออกแบบหลักสูตรมาไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถนำไปใช้ในการทำงานและดำเนินชีวิตภายใต้สังคมสมัยใหม่เช่นนี้ หรือว่าเป็นเพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการฝึกฝน บริบทแวดล้อมไปด้วยสังคมที่ไม่มีภาษาอังกฤษเป็นตัวเชื่อมต่อเหมือนสังคมประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือว่ารูปแบบในการเรียนการสอนไม่ถูกต้องหลากหลายคำถามต่างผุดขึ้นมาในความคิด

อย่าลืมว่าภาษาอังกฤษเป็นทั้งศาสตร์ ศิลป์ และทักษะผสานกัน การเรียนแต่ในตำราอย่างเดียวไม่พอ ความรู้คือหลักเกณฑ์ในการใช้ภาษาให้ถูกต้องตามรูปแบบ ตามกาลเทศะ ตามวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ส่วนทักษะเป็นความคล่องในการใช้ภาษา ความคล่องเกิดจากการฝึกฝน การลงมือปฏิบัติ ลำพังการเรียนในห้องเรียน ตาดู หูฟัง สมองคิด มือจด ใจจำ เป็นเพียงการใช้ประสาทสัมผัสขาเข้า ส่วนการพูดเป็นการฝึกใช้สมองส่วนสั่งการ นักเรียนนักศึกษาที่มีโอกาสได้ไปอยู่ต่างประเทศสักหกเดือนกลับมาจะเก่งภาษาขึ้น เพราะสถานการณ์บังคับให้ต้องฝึกใช้สมองส่วนสั่งการ นักเรียนนักศึกษาที่เรียนโดยใช้สมองส่วนรับอย่างเดียวแม้นจะเรียนเก่งจนได้ เกียรตินิยม แต่เมื่อออกไปทำงานจริงจะล้มเหลว

เมธาจารย์ในสมัยอดีตสอนเราว่า “ความอดทนแม้นวิธีปฏิบัติมันจะขมขื่น แต่ผลของมันหวานชื่น” บางสิ่งต้องอาศัยกาลเวลาถึงจะเห็นผล กว่าต้นไม้จะผลิดอกออกผลให้เราได้ชื่นชมต้องผ่านแดดฝนมาช่วงเวลาหนึ่ง คนท้อไม่มีวันจะได้ลิ้มรสความอร่อยของความอดทน ระหว่างทางจะต้องผ่านความยากลำบากเป็นบททดสอบอีกมากมาย หากได้แต่ตั้งเป้าแต่ไม่ตั้งต้น มันก็เป็นได้เพียงแค่ร่องรอยแห่งความฝัน และที่สำคัญต้องมีจิตใจที่ตั้งมั่นสู้ไม่ถอย โมเดลแห่งความอดทนในการฝึกฝนอย่างไม่ย่อท้อ รางวัลผลตอบแทนที่เขาได้รับจึงคุ้มค่า ผลงานยังคงเป็นอมตะ นำพาให้พวกเขาร่ำรวย และมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก บุคคลเหล่านั้นอาทิ

  1. โทลคีน เขาลงทุนด้านเวลาเขียนนวนิยายอมตะเรื่อง “The Lord of The Rings” ร่วม 16ปีถึงได้ตีพิมพ์ สำนักพิมพ์ยอมเสี่ยงตีพิมพ์โดยแบ่งเป็นไตรภาค แต่นวนิยายของเขากลับได้รับความนิยมอย่างสูง ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก ในปี 2009 นิตยสารฟอร์บส์จัดให้เขาเป็นหนึ่งในบุคคลผู้ล่วงลับที่ทำรายได้มากที่สุด (Top-Earning Dead Celebrities) เป็นรองเพียงแค่ อีฟส์ แซงต์ โรแลงต์, ร็อตเจอร์และแฮมเมอร์สไตน์, ไมเคิล แจ๊คสัน, และเอลวิส เพรสลีย์ เท่านั้น
  2. น้องเมย์รัชนก อินทนนท์ กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักแบดฯมือหนึ่งของโลกได้นั้น หากย้อนภาพกลับไปในวันวาน เราจะพบคำตอบว่าเธอต้องใช้เวลาในการฝึกฝนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ตลอด 365 วัน แต่ละวันเธอต้องฝึกซ้อมถึง 2 รอบ โดยรอบแรกเริ่มตั้งแต่ตี 5 ถึง 7 โมงเช้า พอกลับจากโรงเรียนก็ซ้อมอีกรอบ จาก 5 โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม พอวันหยุดเพิ่มเวลาฝึกซ้อมเป็น 7 ชั่วโมง ซ้อมหนักและละเอียดถึงขนาดตีลูกแบดฯให้โดนเส้นบนกำแพงและต้องตีลูกให้ลงกระป๋องตามจุดต่างๆที่ครูฝึกกำหนดได้อย่างแม่นยำ

จา พนม” หรือ คุณทัชกร ยีรัมย์ คืออีกหนึ่งไอดอลในการพัฒนาภาษาอังกฤษ

ตอนเรียนมัธยมฯก็เรียนเหมือนเด็กทั่วไป มีความถูกผิดของไวยากรณ์เป็นตัวกำกับและขวางกั้น ก่อให้เกิดความกลัว ลังเล และขาดความมั่นใจในการพูดแต่เพราะเขาอยากนำเสนอวัฒนธรรมไทยและเอกลักษณ์ไทยที่เขามีความโดดเด่นให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก เขาจึงเริ่มฝึกฝนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง จนสามารถไปโลดแล่นในเวทีโลกได้สำเร็จ โดยยึดหลักการสื่อสารไว้ก่อนไวยากรณ์ทีหลัง บางทีกรอบกติกามากไปมันก็ฆ่าความคิดสร้างสรรค์ของเรา การยึดติดในกฎไวยากรณ์จนเกินไปก็เป็นเหตุให้ทักษะการพูดของเราไม่ก้าวหน้า ลืมบ้างก็ได้ในเวลาพูดคุยสนทนา

พวกเขาเหล่านี้มิได้เก่งกว่าคนอื่น ต่างก็มีต้นทุนต่ำทั้งนั้น แต่สิ่งที่เขามีมากกว่าคนอื่น คือ พวกเขาฝึกซ้อมมากกว่าคนอื่น คุณบัณฑิต อึ้งรังษี วาทยากรชาวไทยฝีมือระดับโลกย้ำว่า“Repetition is the master of skills.” การเรียนภาษาอังกฤษคล้ายกับการเรียนดนตรี กล่าวคือ เป็นทักษะเหมือนกัน ยิ่งซ้อมก็ยิ่งเก่ง ยิ่งคุณเรียนภาษาให้สนุกได้ก็ยิ่งเป็นกำไรชีวิต เท่ากับช่วยเร่งสปีดนำหน้าคนอื่นไปหลายเท่า แต่เราถูกระบบการศึกษาแบบท่องจำ (Rote Learning) แบบนกแก้วนกขุนทองครอบงำ ทำให้ความสนุกหายไป

ยุคต่อจากนี้ ทักษะ(Skill) จะมีความสำคัญมากกว่าเนื้อหา(Content) เนื่องจากเนื้อหาเราค้นหาได้ง่าย เรามีตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพสูง เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเป็นตัวกลางเชื่อมโยงเราไปสู่คลังความรู้ที่กว้างไกล อยากทราบเรื่องใดเราสามารถค้นหาใน Google และ Wikipedia ได้ทุกที่ ทุกเวลา รวดเร็วทันใจ ในขณะที่ทักษะเราต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และมิอาจปฏิเสธได้ว่าครูมีบทบาทสำคัญในการเรียนภาษาอังกฤษ ครูสอนภาษาอังกฤษในยุค 4.0 จะตัองทำให้นักเรียนได้ 4 ใจ

(1) เข้าใจ สอนให้เข้าใจง่าย โดยการอธิบาย ให้ตัวอย่างประกอบ และเล่าเรื่อง ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย (2) สนใจ รูปแบบในการนำเสนอบทเรียนต้องน่าติดตาม หลากหลายกิจกรรมในการนำเสนอ 

(3) ประทับใจ ครูต้องได้ใจนักเรียน และเป็นโมเดลที่ดีในการฝึกฝน และ (4) สร้างแรงบันดาลใจ มิใช่จบอยู่ที่ห้องเรียน แต่ต้องชี้ให้เขาเห็น ให้เขาไปต่อยอด ไปฝึกฝนเพิ่มเติมนอกห้องเรียน 

ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตกุนซือทีมชาติไทยเขาฝึกลูกทีมวันละ 6 ชั่วโมง จากนั้นจะกำชับให้นักเตะแต่ละคนไปฝึกต่อเพิ่มเติมอีกคนละ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย การฝึกร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์การทำงานเป็นทีม ส่วนอีกสองชั่วโมงจะให้ไปฝึกส่วนตัว เพื่อให้เกิดทักษะในการครองบอล การซ้อมยิง ดังนั้น เราจะเห็นลูกทีมของเขาทำงานร่วมกันได้ดี ที่สำคัญคือการมีน้ำใจนักกีฬา การรู้จักควบคุมอารมณ์ มีใจมุ่งมั่นและขยันฝึกซ้อมหากถามว่าสมการหรือตรรกะอะไรที่นำพาพวกเขาเหล่านั้นไปสู่เป้าหมายได้ เมื่อสังเกตดูดีๆเราจะเห็นความขยันและความอดทนเคียงข้างเป็นเงาพวกเขาอยู่ สติปัญญาเป็นตัวนำทาง มีมานะอดทนเป็นต้นทุน เมื่อโอกาสมาถึงพวกเขาก็พร้อมที่จะคว้า เพราะโอกาสจะยืนอยู่เคียงข้างคนที่ทำงานหนัก และความโชคดีก็มิได้วิ่งเข้าหาประตูที่สวยที่สุด ใหญ่ที่สุด แต่จะเป็นประตูที่เปิดกว้างอยู่ต่างหาก ความสำเร็จต่างก็รู้กันดีว่าไม่มีทางลัด หากอยากได้มาซึ่งความคล่องในภาษาอังกฤษก็จำต้องแลกมาด้วยความทุ่มเท อยากเขียนเก่งก็ต้องฝึกเขียนทุกวัน อยากพูดเก่งก็ต้องฝึกพูดทุกวัน โดยยึดหลัก “Learning by doing” ไม่มีเทวดามาชี้นิ้วให้พรแก่เราให้เก่งภายในสามวันเจ็ดวันแต่อย่างใด

กฏแห่งความสำเร็จของ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ ระบุว่าคนเราต้องผ่านการฝึกฝนด้วยความอดทนเป็นเวลากว่า 10,000 ชั่วโมงจึงจะมีความเชี่ยวชาญในงานนั้นๆ ดังนั้น การเรียนภาษาอังกฤษก็อยู่ภายใต้กฎข้อนี้เช่นกัน ยากที่จะมี Shortcut เป็นทางลัดนำพาเราไปสู่ความสำเร็จได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วัน

...........................................

ผศ. บุญเลิศ วงศ์พรม

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม