กลยุทธ์์ 'ตายใน 100 เดือน' เพื่อส่งไม้ต่อของเจ้าสัว

กลยุทธ์์ 'ตายใน 100 เดือน'  เพื่อส่งไม้ต่อของเจ้าสัว

“ผมจะไม่ใช้คำว่าวางมือหรือเกษียณ แต่ใช้วิธีประกาศกำหนดวันตายไว้ล่วงหน้า

 ประกาศให้ทุกคนในบริษัทรู้ว่าชีวิตผมเหลือ 100 เดือนเท่านั้น ดังนั้นทุกคนต้องเริ่มทำงานประหนึ่งว่าไม่มีผมในอีก 100 เดือนข้างหน้า....”

เจ้าสัวบุญยสิทธิ์ โชควัฒนา หัวเรือใหญ่ของเครือสหพัฒน์ฯบอกผมว่านี่คือกลยุทธ์์ของการ ส่งไม้ต่อ” ให้กับผู้นำรุ่นต่อไปของกลุ่ม

“ถ้าผมบอกว่าวางมือ คนในบริษัทก็จะคิดว่าผมยังพร้อมจะทำงานเหมือนเดิมเพราะสุขภาพยังไหว แต่พอผมประกาศล่วงหน้าว่าจะต้องตายใน 100 เดือนทุกคนรู้ว่าจะต้องเข้ามารับช่วงต่อ เพราะเดือนหน้าผมก็จะนับถอยหลังว่าผมเหลืออีก 99 เดือนแล้ว...” เสี่ยบุญยสิทธิ์บอก

ปีนี้คุณบุญยสิทธิ์อายุ 80 ได้เริ่มลดบทบาทลงตั้งแต่วัย 72 แต่ก็ยังนั่งเป็นประธานและกรรมการบริษัทในเครือมากมาย จำเป็นจะต้องใช้วิธีที่เด็ดขาดชัดเจนกว่าเดิมด้วยการ ประกาศวันตายล่วงหน้า” แม้ว่าสุขภาพจะไม่มีปัญหา

ผมทยอยลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และประธานบริษัทในเครือที่มีอยู่กว่า 200 แห่งแล้ว ตอนนี้จะเป็นแค่ที่ปรึกษา เจ้าสัวสหพัฒน์บอก

คุณบุญยสิทธิ์รับไม้จากคุณพ่อเทียม โชควัฒนา ที่ก่อร่างสร้างเครือสหพัฒน์ จนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจสินค้าผู้บริโภคขนาดใหญ่ ที่ยึดมั่นในความถูกต้องเป็นธรรมต่อสาธารณชน

คุณเทียมจากไปเมื่อ 22 ปีก่อนในวัย 76 ทิ้งมรดกแห่งธุรกิจที่มีคุณธรรมให้ลูกหลานที่นำโดยคุณบุญยสิทธิ์, กับลูกชายอีกสองคนคือคุณบุญชัยและบุญเกียรติ ที่เป็นเสาหลักรับช่วงต่อจากพี่ใหญ่บุญยสิทธิ์อีกชั้นหนึ่งในวันนี้

วันนี้สุขภาพคุณบุญยสิทธิ์ไม่มีปัญหา ผมเล่นกอล์ฟอาทิตย์ละหนึ่งวัน... เพิ่งหยุดบินเครื่องบินเล็กมาเมื่อปีที่แล้วหลังจากบินมากว่า 20 ปี”

เขาเป็นคนบินสูง บินไกล คนในแวดวงเล็กๆ เท่านั้นที่รู้ว่าเขาเป็นนักบินสมัครเล่นที่มีฝีมือคนหนึ่งทีเดียว

กลยุทธ์การส่งไม้ต่อ ของเจ้าสัวในเมืองไทยไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

คุณธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ปีนี้ 78 เพิ่งประกาศเลื่อนลูกชายสองคนขึ้นมาทำหน้าที่แทน โดยคุณสุภกิตเป็นประธานกลุ่มและคุณศุภชัยเป็นซีอีโอของเครือ และเจ้าสัวเองรั้งตำแหน่ง ประธานอาวุโส

คุณธนินท์บอกผมว่าเมื่อทายาทขึ้นมารับช่วงต่อในตำแหน่งบริหารวันต่อวัน เขาก็ดูผลประกอบการห่าง ๆ แต่เนื่องจากกระแสเทคโนโลยีที่มากระทบอุตสาหกรรม เกือบทุกด้านรุนแรงรวดเร็วอย่างยิ่ง เขาจึงต้องเกาะติดความเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาวิจัยด้านหุ่นยนต์ (robotics) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) และ e-commerce

“อะไรที่เคยเป็นสูตรสำเร็จของอดีต ไม่อาจจะใช้สำหรับอนาคตได้อีกต่อไป” คือสัจธรรมใหม่ของเจ้าสัวธนินท์ที่ได้ในระยะหลัง ลงมาทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยตัวเอง เพื่อสร้างผู้นำที่จะขับเคลื่อนองค์กรในวันข้างหน้าต่อไป

จนคุณศุภชัยแซวว่า ทุกวันนี้คุณพ่อคุยกับคนรุ่นใหม่มากกว่าคุยกับผมเสียอีก

เจ้าสัวบุญยสิทธิ์ก็ยืนยันกับผมว่า ความเปลี่ยนแปลงกำลังกระทบต่อทุกวงการ และในจังหวะที่ปูทางเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามารับช่วงต่อนั้น หัวใจของความอยู่รอดของธุรกิจทุกวงการคือต้อง “ปรับโครงสร้างหรือ restructure ให้สอดคล้องกับภาวะใหม่”

ที่สำคัญคือต้อง ทำตัวเบาให้เป็น!