ช่วยนักโทษกลับใจ...ด้วยการให้ “แทบเล็ต”

ช่วยนักโทษกลับใจ...ด้วยการให้ “แทบเล็ต”

หากพูดถึงผู้ด้อยโอกาสในสังคมแล้ว ชื่อของ “นักโทษ” อาจไม่ได้รับการเอาใจใส่มากนัก

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความผิดที่พวกเขาทำอาจร้ายแรงเกินกว่าที่สังคมจะให้อภัยได้ นักโทษจึงเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของสังคมมาโดยตลอด วันนี้ดิฉันจึงจะขอเล่าถึงธุรกิจรายหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ค่ะ

เรือนจำหรือคุกในสหรัฐอเมริกานั้นมีระบบรองรับที่ใหญ่มาก ปัจจุบันในอเมริกามีนักโทษประมาณ 2.2 ล้านคนที่ถูกคุมขังอยู่ในปัจจุบัน หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 22% ของนักโทษทั่วโลก และในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังถึง 40%ที่ได้รับโทษซ้ำและต้องกลับมาเข้าคุกอีกหลังจากที่พ้นโทษไปไม่ถึง 3 ปี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยในแต่ละปีต้องใช้งบประมาณจากภาษีคนอเมริกันถึง 7,400 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาทไปเพื่อการบริหารงานด้านราชทัณฑ์

แต่เป็นเรื่องดีที่มีสตาร์ทอัพรายหนึ่งในนิวยอร์กที่พยายามแก้ปัญหานักโทษเหล่านี้ ด้วยการใช้ แทบเล็ต” ค่ะ

สตาร์ทอัพที่ว่านั่นคือ American Prison Data System หรือ APDS ซึ่งเป็นธุรกิจด้านระบบข้อมูลในเรือนจำ ซึ่งปัจจุบันได้รับสิทธิ์ในการจัดการข้อมูลจากหน่วยงานราชทัณฑ์หลายแหล่งในสหรัฐฯ 

โดยทาง APDS จะให้บริการแก่นักโทษหรือผู้ต้องขังในด้านต่างๆ เช่น e-book และ webcast เพื่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในคุก โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยทำให้เรือนจำกลายเป็นสถานที่ที่ ปลอดภัยมากขึ้น และยังช่วยให้ภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นประหยัดงบประมาณ ทำให้ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นและลดการกลับไปทำผิดใหม่และถูกคุมขังซ้ำ

“คริส กรีวี่” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของAPDS เคยให้สัมภาษณ์แก่เวบไซต์ข่าวObserverไว้ว่า “เมื่อนักโทษเหล่านั้นได้รับการปล่อยตัว พวกเขาจะสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น และกลับเข้าไปรวมอยู่ในสังคมได้ดีขึ้น”

APDS เป็นองค์กรเพื่อสาธารณะ (publicbenefit corporation)ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้แก่สังคมนอกเหนือไปจากการแสวงหากำไร ตั้งอยู่ในรัฐเดลาแวร์

โดยแทบเล็ตของ APDS ที่แจกจ่ายให้แก่ผู้ต้องขังจะเป็นแทบเล็ตพื้นฐานและมีราคา ไม่แพง โดยภายในประกอบด้วยฟังก์ชั่น 6 อย่าง ได้แก่ 

1.หนังสือการอ่านเพื่อสันทนาการ 2. หนังสือกฏหมาย 3. คู่มือแนวปฏิบัติสำหรับผู้ต้องขัง 4. ช่องทางการส่งข้อความ(messaging)เพื่อสื่อสารกับบุคลากรในเรือนจำ อาทิ พยาบาล และครู 5. โปรแกรมการศึกษาผ่านระบบดิจิทัล และ 6. โปรแกรมการศึกษาทางไกล ซึ่ง 2 ฟังก์ชั่นหลังสุดนี่เองที่เป็นเป้าหมายของAPDSนั้นคือการช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังได้เรียนในหลากหลายสาขาวิชา รวมถึงภาษาต่างประเทศ ภายในระยะเวลาที่กำหนด อาทิ การจัดให้มีTED Talksทางดิจิทัล (การพูดเพื่อเผยแพร่ไอเดียดีๆ ที่มีคุณภาพ) เวอร์ชั่นในเรือนจำ และการศึกษาทางไกลที่ทำให้ผู้ต้องขังเปรียบเหมือนได้ออกจาก “คุก” ชั่วคราวด้วยการVDO conferenceกับครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียนภายนอก และเมื่อเรียนจบแล้วยังได้รับวุฒิทางการศึกษาอีกด้วย

แทบเล็ตแต่ละตัวนั้นจะถูก customize เพื่อให้ตรงกับความสนใจของผู้ต้องขังแต่ละรายมากที่สุด เช่นหนังสือก็มีให้เลือกหลากหลายภาษา และยังมีเวอร์ชั่นหนังสือเสียงสำหรับคนที่อ่านไม่ได้ เป็นต้น และไม่ต้องกังวลว่าผู้ต้องขังจะสามารถใช้โซเชียลมีเดีย อย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือเวบไซต์ภายนอกอื่นๆ เช่นเวบโป๊ หรือเวบดูบอลได้ เพราะAPDSมีการจัดการและควบคุมคอนเทนท์เป็นอย่างดี

“ปัจจุบันแทบเล็ตของ APDS มีการใช้งานรวมแล้วกว่า 3.5 ล้านชั่วโมง และไม่มีการหลุดรั่วเข้าไปในเวบไม่พึงประสงค์ ซึ่งช่วยให้ทั้งตัวนักโทษเอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และสาธารณชน ล้วนมีความปลอดภัย” กรีวี่ กล่าว

และที่สำคัญยังช่วยให้หน่วยงานราชทัณฑ์ที่ใช้แทบเล็ตของAPDSมีรายงานการประพฤติผิดวินัยลดลง รวมถึงใช้งบประมาณน้อยลง โดยแทบเล็ตแต่ละตัวมีราคาประมาณ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่กรีวี่เชื่อว่าในระยะยาวจะสามารถลดต้นทุนในการจัดการผู้ต้องหาลงได้ 3,000-5,000 เหรียญต่อนักโทษ 1 รายเลยทีเดียว

ปัจจุบัน APDS เป็นพันธมิตรกับเรือนจำหลายแห่งในนิวยอร์ก อินเดียนา เท็กซัส เวอร์จิเนีย และเพนซิลวาเนีย โดยเป้าหมายท้ายสุดของAPDSคือการช่วยให้ทุกคนที่ถูกกักขังในอเมริกาสามารถเข้าถึงแหล่งการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาประสบความสำเร็จ ภายหลังจากที่ได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการและออกจากเรือนจำไป

“เรามุ่งสร้างระบบเรือนจำที่ช่วยฟื้นฟูชีวิตของนักโทษ และช่วยให้พวกเขามีที่ยืนและประสบความสำเร็จตามสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ” กรีวี่ กล่าว

APDS จึงไม่เพียงแต่จะช่วยให้ภาครัฐลดงบประมาณในการจัดการนักโทษเหล่านี้ลงได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้พวกเขาได้ กลับตัวกลับใจกลายเป็นคนดีในสังคม...ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับนั้นคงไม่อาจประเมินมูลค่าได้เลยค่ะ