แก้ปัญหา 'เอสเอ็มอี' ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิด

แก้ปัญหา 'เอสเอ็มอี'  ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันคิด

มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็น “เอกฉันท์”

 ให้คงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 1.5% อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แม้จะเป็นการคงดอกเบี้ยที่ยาวนานถึง 25 เดือนติดต่อกัน แต่ความเห็นของที่ประชุมมีเรื่องที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรกที่ กนง. ส่งสัญญาณออกมา คือ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นข่าวดี เพราะเป็นครั้งแรกที่ กนง. บอกว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น แต่ก็มีประเด็นที่น่าห่วงเช่นกัน คือ ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะยังเห็นการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย หรือ เอ็นพีแอลในกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสามารถการแข่งขันของเอสเอ็มอีที่ด้อยลง

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. บอกว่า ความสามารถเอสเอ็มอีที่ด้อยลง ทำให้การฟื้นฟูสถานะหนี้จากหนี้เสีย กลับมาเป็นหนี้ปกติต้องใช้เวลาที่ยาวนานขึ้น โดยปกติแล้วเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัว หนี้เสียส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่เกิน 2 ไตรมาส ก็กลับมาเป็นหนี้ปกติได้ แต่กรณีนี้อาจต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่านั้น

เลขานุการ กนง. ย้ำด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเอสเอ็มอีไทย ไม่ได้เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เกิดจากรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไปในขณะที่เอสเอ็มอีปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ได้ปรับตัว ทำให้ถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลัง

ประเด็นเรื่องเอสเอ็มอีที่ กนง. ส่งสัญญาณออกมาครั้งนี้ถือว่าชัดเจนและเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรต้องช่วยกันขบคิด เพราะเอสเอ็มอีแม้จะมีขนาดเล็ก แต่ถือเป็นหน่วยใหญ่ของเศรษฐกิจไทย เรียกได้ว่าเป็น “กระดูกสันหลัง” ของเศรษฐกิจก็ว่าได้

อันที่จริงแล้วรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอีเป็นอย่างมาก จะเห็นว่ามีมาตรการทั้งสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีออกมาต่อเนื่องมากมาย แม้แต่ในระดับกระทรวงเอง แทบทุกกระทรวงมีโครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเหมือนกันหมด เพียงแต่เป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ขาดการรวมศูนย์

แม้ระยะหลัง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(สสว.) ถูกผลักดันให้มีบทบาทมากขึ้น ในการวางแผนและกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอี แต่ยังมีคำถามเรื่องของอำนาจในการผลักดันนโยบายเหล่านั้น

นอกจากนี้แล้วต้นทุนการเงินที่เอสเอ็มอีต้องแบกรับ ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่กดดันขีดความสามารถของเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ..ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยเงินกู้กับเอสเอ็มอีเฉลี่ยที่ 6-7% แต่ในขณะเดียวกันกลับคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงแค่ 1-2% เท่านั้น เท่ากับว่า เอสเอ็มอี มีต้นทุนการเงินสูงกว่ารายใหญ่ถึง 5-6% แบบนี้เรียกว่าเอสเอ็มอีแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มลงทุน

เราเห็นว่าการแก้ปัญหาเอสเอ็มอีไม่ควรเป็นพันธกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือแม้แต่เป็นพันธกิจของทุกหน่วยงานแต่ใช้วิธีต่างคนต่างทำ เพราะแนวทางที่น่าจะดีและเหมาะสมสุดควรมีการ “รวมศูนย์” ในการจัดการปัญหา พร้อมส่งเสริมภาคธุรกิจแบบเป็นองคาพยพ เพื่อให้เอสเอ็มอีไทยเกิดการปรับตัวอย่างเป็นรูปธรรม ก้าวเข้าสู่ “เอสเอ็มอี 4.0” ตามนโยบาย “ไทยแลนด์4.0” โดยที่ไม่มีรายใดต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง