One Belt One Road...เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

One Belt One Road...เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

One Belt One Road...เส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ผ่านไปหมาดๆ กับ The Belt and Road Forum ในวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของนโยบาย One Belt One Road ที่ต้องการปฏิวัติเส้นทางสายไหมขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการสร้าง "เส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21" ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 2 เส้นทางคมนาคม คือ 1. Silk Road Economic Belt ซึ่งเชื่อมโยงทางบกระหว่างเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก และ 2. Maritime Silk Road ซึ่งเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างเอเชียใต้ แอฟริกาตะวันออก และเมดิเตอร์เรเนียน โครงการนี้เป็นยุทธศาสตร์ของจีนเพื่อ 1. ผลประโยชน์ทางการค้าที่กว้างขึ้น 2. ใช้ประโยชน์จากกำลังการผลิตอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ 3. สนับสนุนการเติบโตของมณฑลจีนที่ล้าหลัง 4. หาแหล่งพลังงานใหม่ และ 5. ขยายบทบาทของจีนในการเมืองโลก

เสียงตอบรับจากประเทศต่างๆ แตกต่างกันไป โดยมีมากกว่า 100 ชาติใน 5 ภูมิภาคลงบันทึกความเข้าใจแล้ว อย่างไรก็ดี บางประเทศ เช่น อินเดีย ตั้งข้อกังขาว่าจีนจะใช้โครงการนี้เพื่อคุมยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดียและทำลายอธิปไตยประเทศอื่น ขณะที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้มากนัก ดังนั้น ผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังไม่สามารถประเมินได้

...แต่แน่นอนว่าผลของ One Belt One Road จะดีต่อเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัย เห็นได้จากตัวเลขดุลการค้าจีนกับประเทศที่ร่วมโครงการ โดยดุลการค้าเกินดุลของจีนปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก 1.1 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2556 (ปีที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ประกาศนโยบาย) มาที่ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2559

 นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้อุปสงค์ของวัตถุดิบอย่างซีเมนต์และเหล็ก สูงขึ้นตาม ซึ่งจีนเป็นผู้ส่งออกหลัก ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้ซีเมนต์จะสูงถึง 600 ล้านตันต่อปี หรือ 25% ของกำลังการผลิตจีน รวมถึงคาดการณ์ว่าอุปสงค์ของเหล็กจะเติบโตที่ 5% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า มากไปกว่านั้น บริษัทก่อสร้างและวิศวกรจีนหลายบริษัทยังได้อานิสงส์ชนะประมูลโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอื่นที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย โดยโครงการเหล่านั้นมีมูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2559 ขยายตัวขึ้นอย่างมากถึง 36% เทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ทุกอย่างไม่ได้สวยหรูสำหรับจีนเสมอไป รัฐบาลจีนที่ต้องการรักษาเสถียรภาพของเงินหยวนด้วยการออกมาตรการควบคุมการไหลออกของเงินทุน อาจส่งผลให้การลงทุนนอกประเทศของเอกชนจีนลดลง กอปรกับดุลการค้าเกินดุลที่สูงขึ้นของจีน อาจสร้างความไม่พอใจต่อประเทศอื่นๆ ที่เสียดุลให้จีน

ด้านประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนที่ส่วนใหญ่กำลังพัฒนาจะได้รับผลบวกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ รวมถึงกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้สูงขึ้น อีกทั้งยังมีช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้น โดยจีนได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชียน หรือ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ขึ้น เพื่อปล่อยกู้ให้ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะจีนต้องการผลักดันให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินหลักในเวทีโลกนั่นเอง อย่างไรก็ดี ในแผนพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่นี้ เส้นทางที่พาดผ่านมายังกลุ่มอาเซียนนั้นไม่ได้อยู่ในแผนอันดับต้นๆ ของจีน เพราะจีนให้ความสำคัญกับเส้นทางไปยุโรปผ่านตะวันออกกลางมากกว่า ด้วยความต้องการที่จะเข้าถึงแหล่งน้ำมันและตลาดส่งออกใหญ่อย่างยุโรป แปลว่าผลประโยชน์ที่ได้อาจจะต้องรอนานกว่าสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน โดยพม่าคาดว่าจะได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากอยู่ในเส้นทางหลัก 2 เส้นทางจากทั้งหมด 6 เส้นทาง และมีความสัมพันธ์อันดีทางการค้ากับจีนอยู่แล้ว สำหรับไทยที่ไม่มีเส้นทางไหนผ่านเลยอาจได้รับผลทางอ้อมด้านการค้า จากตำแหน่งของไทยที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน

หันมาพิจารณาผลต่อตลาดทุนโลกกันบ้าง ตลาดตราสารหนี้จะคึกคักขึ้น ด้วยภาวะดอกเบี้ยต่ำในทุกวันนี้ จะกระตุ้นให้บริษัทก่อสร้างในจีน หรือประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหาเงินทุนผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้น ส่งผลให้ขนาดของตลาดตราสารหนี้ในเอเชียใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะจีน ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันการเปิดตลาดทุนจีนต่อนักลงทุนต่างชาติในอีกนัยหนึ่ง