แนวทางการเตรียมกำลังคนสำหรับไทยแลนด์ 4.0

แนวทางการเตรียมกำลังคนสำหรับไทยแลนด์ 4.0

การก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องมีการเตรียมกำลังคนให้เหมาะสม ทั้งส่วนที่เป็นกำลังคนในตลาดแรงงาน

 และกำลังคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในระบบการศึกษา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก Human Capital Report 2016 ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนของแรงงานฝีมือมีเพียง 14.4% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในขณะที่ประเทศสวีเดน เยอรมนี สิงคโปร์ และฟินแลนด์ ซึ่งมีความพร้อมในการเข้าสู่ยุค 4.0 มากกว่าประเทศไทย มีสัดส่วนแรงงานฝีมืออยู่ระหว่าง 43% ถึง 55% ถ้านำตัวเลขของ 4 ประเทศมาเฉลี่ยจะพบว่าสัดส่วนแรงงานฝีมือมีค่าประมาณ 48%

จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในปี 2559 จำนวนผู้มีงานทำมีประมาณ 37.98 ล้านคน หาก 14.4% ของผู้มีงานทำเป็นแรงงงานฝีมือ ก็แสดงว่า ในตอนนี้ประเทศไทยมีแรงงานฝีมือราว 5.47 ล้านคน

ถ้านำค่าเฉลี่ยของสัดส่วนแรงงานฝีมือของ 4 ประเทศมาเป็นฐานในการคิด เงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถไปสู่ยุค 4.0 ได้ คือ แรงงานของประเทศประมาณ 48% จะต้องเป็นแรงงานฝีมือ คิดเป็นจำนวนราว 18.28 ล้านคน นั่นหมายความว่า ต้องมีการยกระดับทักษะของแรงงานไทยอีก 12.81 ล้านคนให้กลายเป็นแรงงานฝีมือ ซึ่งมีทั้งแรงงานใหม่ที่เพิ่งออกมาจากระบบการศึกษา และแรงงานที่อยู่ในตลาดแรงงานอยู่แล้ว

นอกจากประเด็นเรื่องการเพิ่มจำนวนแรงงานฝีมือให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน คือ ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่ว่าคนเหล่านี้จะเลือกเป็นผู้ประกอบการหรือเลือกจะทำงานเป็นลูกจ้างก็ตาม

ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาจนส่งผลต่อตลาดแรงงานนั้น สามารถประเมินได้จากระดับความรุนแรงของช่องว่างทักษะ (Skill Gaps) ซึ่งคิดจากจากร้อยละของสถานประกอบการที่ระบุว่าแรงงานในสถานประกอบการมีความสามารถในการทำงานต่ำกว่าความคาดหวังจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจ

รูปที่ 1 แสดงระดับปัญหาช่องว่างทักษะของประเทศไทย เทียบกับสหราชอาณาจักร (UK) และ แคนาดา (Canada) ซึ่งจะเห็นได้ว่า โดยภาพรวมแล้วระดับปัญหาช่องว่างทักษะของไทยมีค่าประมาณ 17.8% สำหรับจังหวัดตราด ปัญหาช่องว่างทักษะมีค่าประมาณ 20.0% อย่างไรก็ตาม ปัญหาเดียวกันนี้ของเชียงใหม่และภูเก็ตมีค่าเพิ่มขึ้นเป็น 62.4% และ 61.9% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าปัญหานี้สหราชอาณาจักรและแคนาดาถึงเท่าตัว สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อจังหวัดมีการพัฒนามากขึ้น ปัญหาช่องว่างทักษะก็มความรุนแรงมากขึ้น เป็นสัญญาณบอกว่า การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยขาดการเตรียมความพร้อมของระบบการศึกษาที่เหมาะสมจะทำให้ปัญหาช่องว่างทักษะมีความรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

อีกประเด็นที่เป็นข้อสรุปจากการเปรียบเทียบกับผลการศึกษาในต่างประเทศ คือ การจะกำหนดแนวทางการพัฒนาคนเพื่อให้ช่องว่างทักษะหมดไปเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สิ่งที่ทำได้เพื่อลดปัญหานี้ต้องเริ่มด้วยการแบ่งแรงงานออกเป็นสองกลุ่ม คือ แรงงานใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษากับแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว

สำหรับแรงงานใหม่ที่ก้าวเข้าไปสู่โลกของการทำงานเป็นครั้งแรก ความพร้อมจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในระบบการศึกษา การแก้ปัญหาแรงงานใหม่จึงเชื่อมโยงกับการพัฒนาแนวทางการเรียนรู้ในระบบการศึกษาที่มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงตามบริบทของพื้นที่ควบคู่กันไป

สำหรับแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ว ช่องว่างทักษะเกิดจากการที่แรงงานปรับตัวกับลักษณะของงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาไม่ได้ หรือไม่มีโอกาสได้ยกระดับทักษะของตนเอง การแก้ปัญหานี้จึงเชื่อมโยงกับการพัฒนาระบบสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะงานและความพร้อมของแต่ละคน

บทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดช่องว่างทักษะชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหานี้ต้องแก้ในระดับพื้นที่เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การจัดการศึกษาจึงควรเป็นการจัดการศึกษาในเชิงพื้นที่มากกว่าการสั่งการจากส่วนกลาง เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเยาวชนในวัยเรียนควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสให้แรงงานในตลาดแรงงานได้มีโอกาสยกระดับทักษะของตนเองให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปลี่ยนไป

เนื่องจากการจัดการศึกษาแบบใช้พื้นที่เป็นฐานนั้น ยังเป็นเรื่องใหม่ จึงจำเป็นจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายความรูปแบบประชารัฐในระดับพื้นที่ การจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ประสพผลสำเร็จจึงควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในระดับพื้นที่ ให้สามารถทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้