Biodegradable สร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

Biodegradable สร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

Biodegradable สร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลก

ผลิตภัณฑ์​หลากหลายชนิดในชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ล้วนแต่มีพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ก้าวแรกตื่นขึ้นมาหยิบแก้วหยิบขันรองน้ำแปรงฟันก็เจอแล้ว  ส่วนสิ่งของที่เห็นจนคุ้นเคยชินตากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเห็นจะเป็นขวดน้ำ พัดลมแอร์ ตู้เย็น ฯลฯ

ท่านผู้อ่านครับ จากรายงาน The New Plastic Economy ของสถาบัน Ellen Macarthur Foundation ระบุว่า ในแต่ละปีมีการผลิตพลาสติกทั่วโลกกว่า 300ล้านตัน และประเภทของพลาสติกที่มีการใช้งานมากที่สุด คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีปริมาณรวมเกือบ 80 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 26 ของพลาสติกที่ผลิตขึ้นใช้ในโลก  

พลาสติกประเภทบรรจุภัณฑ์กลายเป็นขยะเกลื่อนเมืองเพราะคนทั่วไปใช้เพียงครั้งเดียวก็ทิ้ง จะมีเพียงแค่ ร้อยละ2 เท่านั้นที่ถูกนำมารีไซเคิลต่อเนื่อง ที่เหลือเป็นขยะต้องกำจัดทำลาย

ปัญหาที่ทำให้พลาสติกไม่สามารถนำไปรีไซเคิลมักเกิดจากปัญหาการจัดการขยะ  โดยพลาสติกที่ถูกทิ้งส่วนมากจะปนเปื้อนอาหาร คราบไขมัน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกระบวนการรีไซเคิล  

ที่ประเทศอังกฤษพบว่าในแต่ละปีมีการใช้แก้วกาแฟพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งสูงถึง 2,500 ล้านใบ  มีอัตราการรีไซเคิลไม่ถึง ร้อยละ1 กลายเป็นขยะที่ต้องกำจัดมากมายมหาศาลและกำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังเพราะพลาสติกต้องใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 500 ปี  หรือหากใช้วิธีเผาเพื่อเร่งการทำลายก็จะต้องใช้พลังงานสูงและก่อให้เกิดก๊าซมลพิษในการเผาพลาสติกขึ้น 

ขณะนี้มีนักชีววิทยาพยายามใช้ตัวหนอนกัดกินและย่อยสลายพลาสติกมาช่วยแก้ไขปัญหาซึ่งอยู่ในระยะของศึกษาทดลองและพัฒนา เพื่อไม่ให้ขยะพลาสติกที่มีเป็นจำนวนมาก กลายเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

จากปัญหาดังกล่าวจึงมีการพัฒนาผลิตพลาสติกชีวภาพ (Biodegradable Plastic) ที่สามารถย่อยสลายได้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำเมื่อนำไปฝังกลบภายหลังการใช้งาน  โดยใช้เวลาในการย่อยสลายสั้นลงกว่าพลาสติกปกติเหลือไม่ถึง 5 ปี หรือใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนจะยิ่งดี    

พลาสติกชีวภาพนี้สามารถผลิตได้จากพืชจำพวกแป้งและน้ำตาล  ในต่างประเทศนิยมใช้ข้าวโพดหรือหัวบีท สำหรับประเทศไทยสามารถใช้มันสำปะหลังหรือน้ำตาลจากอ้อยเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้

พลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืชเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นสารพอลิเมอร์(Polymer) ในกลุ่มพอลิแลกติกแอซิดหรือ PLA (Polylactic Acid) และพอลิบิวธิลีนซัคซิเนต หรือ PBS (Polybutylene Succinate)   ที่นำมาใช้ในการผลิตเป็นแก้วสำหรับเครื่องดื่ม กล่องอาหาร ขวดบรรจุของเหลว ถุงหูหิ้วส่วนใหญ่ใช้ครั้งเดียวก็ทิ้ง  จึงเหมะสมที่จะนำมาใช้เพราะย่อยสลายได้เร็วขยะพลาสติกก็จะลดลงเร็ว 

ปัจจุบันผู้ผลิตและผู้ใช้ที่มีหัวใจสีเขียวรักษ์สิ่งแวดล้อมนำพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีระยะเวลาใช้งานสั้นและถูกทิ้งหลังหมดอายุการใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  เช่น  รองเท้าวิ่ง ที่ปกติมีอายุการใช้งานประมาณ 500 – 800 กิโลเมตร  หากเป็นผู้สวมใส่เป็นคนที่วิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ  เพียงครึ่งปีรองเท้าพวกนี้ก็จะหมดอายุและถูกทิ้ง  

ล่าสุดได้ข่าวว่าบริษัท Adidas ได้ริเริ่มนำนวัตกรรมในการใช้วัสดุธรรมชาติมาผลิตเป็นเส้นใยที่มีความเหนียวแบบเส้นไหมมาใช้ในการผลิตเป็นรองเท้าวิ่ง  ที่มีความคงทนเหมือนรองเท้าวิ่งทั่วๆไป แต่สามารถย่อยสลายได้ภายใน 36 ชั่วโมงเมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสมและมีเอนไซม์ช่วยย่อย และอีกหนึ่งในความพยายามของผู้ผลิตที่รักษ์โลก หวังจะช่วยลดขยะคือผลิตผ้าอนามัยที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ  

ทั้งนี้ ประเทศในแถบอเมริกาเหนือปกติจะมีขยะที่มาจากผ้าอนามัยที่ต้องกำจัดปีละ 20,000 ล้านชิ้น  จากการคิดค้นของกลุ่มนักวิจัย University of Utah ได้พัฒนาการผลิตผ้าอนามัยยี่ห้อ SHERO จากวัตถุดิบธรรมชาติ 100เปอร์เซ็นต์ที่สกัดและสังเคราะห์ได้จากข้าวโพด เปลือกฝ้าย และสาหร่ายสีน้ำตาล  ที่ย่อยสลายได้ในสภาวะที่เหมาะสมซึ่งใช้เวลาประมาณ 45 วันถึง 6 เดือน คาดว่าจะผลิตออกขายได้ภายในหนึ่งปีจากนี้

อย่างไรก็ตาม แม้หลายบริษัทต้องการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายทางชีวภาพได้เองตามธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จากข้อมูลโดยสมาคม European Bioplasticพบว่าพลาสติกประเภทนี้ ณ ปี 2560 มีกำลังผลิตรวมทั่วโลกเพียง 964,000 ตันเท่านั้นไม่ถึง 1เปอร์เซ็นต์ของกำลังผลิตพลาสติกทั่วโลก  คาดว่ากำลังผลิตพลาสติกชีวภาพประเภทย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ30ทั้งจากแรงกระตุ้นด้านปัญหาการกำจัดขยะ  และจากความต้องการลดการพึ่งพาฟอสซิลซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  

ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ  ไทยเรามีศักยภาพและความพร้อมในส่วนต้นน้ำด้านวัตถุดิบทางการเกษตร เรามีทั้งมันสำปะหลังและน้ำตาลจากอ้อยที่สามารถผลิตและส่งออกได้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก  รวมทั้งมีพื้นฐานในส่วนปลายน้ำที่แข็งแรงเพราะมีการผลิตและส่งออกเม็ดพลาสติกจากปิโตรเคมีไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่แล้ว ช่วยให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมมีรายได้เพิ่มขึ้น  และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาวต่อไป

นวัตกรรมสิ่งแวดล้อมมีหลากหลายขึ้นเพราะความรับผิดชอบของผู้ผลิต และผู้ใช้ที่ต้องการเยียวยาโลกใบนี้ครับ