ตลาดตราสารหนี้ไทย เม.ย.ทรุด

ตลาดตราสารหนี้ไทย เม.ย.ทรุด

ตลาดตราสารหนี้ไทย เม.ย.ทรุด คาดฟื้น3-6เดือนข้างหน้า

ในช่วงต้นเดือนเมษายน รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC)ของการประชุมครั้งก่อน เปิดเผยว่า กรรมการบางท่านเห็นว่าราคาของตลาดหุ้นอยู่ในระดับที่สูงเกินไป และส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับลดขนาดงบดุลลงก่อนสิ้นปี หากเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวต่อเนื่อง โดยถือเป็นการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)ที่เคยใช้ในช่วงวิกฤติการเงิน 

นอกจากนี้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนว่า เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง อัตราการว่างงานที่ต่ำกว่าร้อยละ4.5 นั้นเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการจ้างงานเต็มที่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวเข้าใกล้เป้าหมายที่ร้อยละ2ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะร้อนแรงเกินไป

ในเดือน เม..นี้มีเหตุการณ์ความไม่แน่นอนด้านการเมืองในต่างประเทศหลายเหตุการณ์ที่กระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ได้แก่ ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากสหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธไปยังซีเรีย เนื่องจากมีข้อมูลว่าประธานาธิบดีซีเรียได้ใช้อาวุธเคมีร้ายแรงโจมตีกลุ่มกบฏในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย และมีสัญญาณว่าเกาหลีเหนืออาจโจมตีสหรัฐด้วยนิวเคลียร์,

การที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษได้ประกาศจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด โดยจะจัดให้มีในวันที่8มิ.. ปีนี้,การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งนายเอมมานูเอล มาครอง ผู้สมัครที่มีแนวคิดสายกลางได้รับชัยชนะไปตามความคาดหมาย ซึ่งลดความเสี่ยงที่ฝรั่งเศสจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป เป็นต้น ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงขายดอลลาร์และหันไปถือครองสกุลเงินที่มีความปลอดภัย ทางด้านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือนนี้ มีเพียงของธนาคารกลางยุโรป (ECB)และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)ซึ่งต่างคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเครื่องมือทางการเงินตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยในเดือนนี้ มีทั้งปรับตัวขึ้นและปรับตัวลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นทยอยปรับลดลงตลอดทั้งเดือน ผลการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน รุ่นอายุ14วัน, 3เดือน และ6เดือน ให้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่1.33%, 1.38% และ1.46% ตามลำดับ ซึ่งลดลงมาจากช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ระดับ1.47%,1.50% และ 1.51% ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดปริมาณการเสนอขายพันธบัตรลง เนื่องจากต้องการสกัดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาพักเงินในระยะสั้น 

ส่วนพันธบัตรระยะยาวรุ่นอายุ5ปีขึ้นไปปรับตัวขึ้น 0.01-0.09% ตลอดทั้งเดือนนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรรัฐบาลประมาณ12.5พันล้านบาท เป็นพันธบัตรระยะสั้นประมาณ3.4พันล้านบาทและพันธบัตรระยะยาวประมาณ9.1พันล้านบาท

มุมมองต่อตลาดตราสารหนี้ไทยในระยะ3-6เดือนข้างหน้านี้ คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอาจปรับตัวขึ้นได้เมื่อปริมาณเสนอขายพันธบัตรปรับเข้าสู่ระดับปกติ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของUS Treasury Yieldซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อหลังจากปรับลดลงมาจากความไม่มั่นใจในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจากประธานาธิบดีทรัมป์ตามที่หาเสียงไว้