ศก.ยุโรป 'พ้นจุดต่ำ' เข้าสู่ยุคฟื้นตัว

ศก.ยุโรป 'พ้นจุดต่ำ' เข้าสู่ยุคฟื้นตัว

นอกจากนักลงทุนทั่วโลก ต้องจับดูการเคลื่อนตัวของพี่ใหญ่ อย่างประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดแล้ว

 ตลอดปี 2560 “กลุ่มยูโรโซน” ก็มีเรื่องให้โลกต้องจับตาดูหลากหลายประเด็นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่ชัดเจนทาง “การเมือง” หลังประเทศหลักจัดให้มีการเลือกตั้ง ไล่มาตั้งแต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมันนี และอิตาลี

นอกจากนั้นยังต้องจับตาดู “กรีซ” ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความอ่อนทางเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะยังคงต้องการขอความเหลือจากกลุ่มยุโรปเช่นเดียวกับโปรตุเกส หลังภายในเดือนก.ค.นี้ กรีซมีกำหนดชำระหนี้คืนจำนวนมาก

ขณะที่การเลือกในเยอรมันที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนก.ย.นี้ อาจทำให้กรีซมีความยากลำบากในการขอเงินช่วยเหลือจากกลุ่มยูโรโซน

แต่ บล.กสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า ผลกระทบบของกรีซ ไม่น่ามีมากเหมือนในอดีต เนื่องจากมากกว่า 70% ของหนี้สินของกรีซเป็นหนี้ของภาครัฐ

ทว่า หนึ่งเรื่องสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังเกาะติดไม่แพ้การเมืองฝั่งยุโรป คือ ภาพรวมเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน

แม้ในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (Economic Confidence) ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.1 จุด เป็น 107.9 จุด แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี

ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Composite PMI) ยังเพิ่มขึ้น 0.4 จุด เป็น 56.4 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี (ภาคการผลิต และภาคบริการ 56.2 จุด และ 56 จุด ตามลำดับ)

สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ที่ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี แม้จะมีความเสี่ยงทางการเมืองอยู่บ้าง หลังคาดว่า การบริโภคยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในช่วงเดือนก.พ.2560 ที่เร่งตัวขึ้นเป็น 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 1.5% ถือเป็น สัญญาณที่ดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรนโซน

ขณะเดียวกัน ยังบ่งชี้ว่า เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นแรงในช่วงต้นปียังคงไม่กดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภคมากนัก เบื้องต้นคาดว่า ยอดค้าปลีกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ที่กลับมาเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ที่ระดับ - 5.0 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2558

ในแง่ของ “ส่งออก” ยังมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก สะท้อนผ่านดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นในภาคส่งออกอย่าง PMI New Exports Orders และ IFO Export Expectations ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีก่อน

เมื่อสถานการณ์ฝั่งยุโรปกำลังจะดีขึ้นเรื่อยๆจึงไม่น่าแปลก หากช่วงนี้จะเห็นเหล่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พากันออกกองทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนยุโรป อย่างน้อยก็ช่วยกระจายความเสี่ยงการลงทุนในยามที่ตลาดหุ้นไทยไม่มีสตอรี่ใหม่หนุนหลัง