สามปีรัฐประหาร : Fear No More

สามปีรัฐประหาร : Fear No More

เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ผมได้เขียนบทความเรื่อง “สองปีรัฐประหาร : ความกลัวและความหวัง ”

 โดยหวังว่าจะทำให้สังคมไทยลองเริ่มต้นจากการถามตัวเองในปัจจุบันว่าเรา คนไทย คนในสังคมไทยเป็นใคร เป็นคนอย่างไร เราเข้าใจตัวเองและเพื่อนเราอย่างไรและทำไม เรามองการปกครองโดยอำนาจทหารอย่างไรและทำไม คนแต่ละกลุ่มมองและเข้าใจ “ทหาร” อย่างไรและทำไม

คำถามทั้งหมดจะเน้นให้เราได้คิดว่าเราเป็นประชาชน หรือพลเมืองแบบไหนและเป็นอย่างนี้มาได้อย่างไร (What kinds of people and citizen have we become) การตอบคำถามข้างต้นเป็นการขุดคุ้ยในเชิง “ประวัติศาสตร์/สังคมวิทยา” ที่จะทำให้เราเห็น “ตัวตนของเรา” ในแต่ละช่วงเวลาว่ามีความแปรเปลี่ยนและจัดความสัมพันธ์กับรัฐแบบไหน อย่างไร และทำไม

ความต้องการที่จะให้คนในสังคมไทยได้ทบทวนเรื่องนี้ก็เพราะว่าคำถามหลักที่ถูกถามกันมากในช่วงปีที่สามนี้ ก็คือ อะไรทำให้ผู้คน (จำนวนไม่น้อย) ยอมรับการปกครองแบบไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ ทั้งๆ ที่คนสังคมไทยต่างเรียกร้องประชาธิปไตยมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

คนจำนวนมากในสังคมไทยถูกทำให้ยอมนับการใช้อำนาจแบบไม่เป็นประชาธิปไตยนี้เพราะคณะรัฐประหารทำให้ผู้คนรู้สึกไปว่าหากคนทั้งหมดมี “เสรีภาพ” สังคมก็จะเกิดความวุ่นวายสับสนและจะไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอำนาจมากำกับ “เสรีภาพ” ให้อยู่ในร่องในรอยไม่ก่อความวุ่นวายปั่นป่วน

การกระตุ้นหรือทำให้ผู้คนเกิด “ความกลัว” ว่าชีวิตของผู้คนจำนวนมากจะเสื่อมถอยจากที่ควรจะเป็น พร้อมกันนั้นก็ได้ปลุกปลอบด้วย “ความหวัง” ว่าหากยอมให้ “การปกครอง” แบบนี้ดำเนินต่อไปก็จะชีวิตของตนจะก้าวหน้ามากกว่าเดิม

“เสรีภาพ” ที่ถูกตีกรอบไว้ด้วย “ความกลัวและความหวัง” จึงซึมลึกเข้าไปกำหนดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก ด้วยกระบวนการแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งจากกลไกของรัฐทุกรูปแบบและที่สำคัญจากสื่อส่วนตัวในโลกโซเชียล

แต่สภาพการณ์ในปีที่สามนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากสองปีแรกมากทีเดียว เพราะมิติที่จำกัดความหมายของเสรีภาพได้เริ่มเสื่อมพลังในจิตใจของคนไทย ได้แก่ มิติเรื่อง “ ความหวัง ”

ความหวัง” ที่สำคัญสุดในความคิดของคนไทยเป็นความคาดหวังที่จะให้ “ บ้านเมือง” มีความสงบเรียบร้อย ดังจะเห็นจากโพลต่างๆที่ระบุคล้ายคลึงกันว่าความสำเร็จที่โดดเด่นของคณะรัฐประหารคือการทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย

แต่การระเบิดในเขตใจกลางกรุงเทพฯสามครั้งหลังเริ่มทำให้คนตั้งคำถามต่อ “ ความหวัง” ของตนเอง โดยเฉพาะการระเบิดครั้งล่าสุดในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ บรรดานายทหารชั้นนำที่ควบคุมอำนาจอยู่ทำได้เพียงแค่การกล่าวว่าเป็นการกระทำคนเลว คนหนักแผ่นดิน และท้ายที่สุดก็ออกคำสั่งไม่ให้นายทหาร นายตำรวจให้ข่าวในเรื่องนี้

ความดำมืดของการระเบิดครั้งนี้จะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อ “ความหวัง” ของคนไทย เพราะทุกคนจะรู้สึกว่าคณะรัฐประหารไม่สามารถที่จะต่อรองกับกลุ่มอำนาจอีกกลุ่มหนึ่งได้ เพราะหากไม่ทำตามข้อเรียกร้องของอำนาจอีกกลุ่มหนึ่ง การรักษาความสงบเรียบร้อยที่เป็นหัวใจหลักของความชอบธรรมคณะรัฐประหารก็จะเสื่อมสลายไปในทันที

ขณะเดียวกัน หากทำตามข้อเรียกร้อง ก็เป็นการตกลงกันในห้องลับ ซึ่งคนจำนวนมากในสังคมไทยก็ยิ่งไม่สบายใจและเกิดความระแวงมากขึ้นตามไปด้วย

ส่วน“ความหวัง” ลำดับรองลงมาก็เริ่มกัน ได้แก่ สภาวะทางเศรษฐกิจที่คนไทยหวังว่าจะกระเตื้องขึ้นในเร็ววันหลังการรัฐประหาร กลับไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง จำนวนผู้ที่ไปลงชื่อเป็นคนจนเพิ่มมากขึ้นถึงสิบกว่าล้านคน บ่งบอกได้ว่าคนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มมีรายได้พ้นจากระดับเส้นความยากจนและกำลังเริ่มตั้งตัว ซึ่งทางหน่วยงานราชการเคยเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ คนเกือบจน” ซึ่งเดิมมีจำนวนประมาณเจ็ดล้านคน คนกลุ่มที่กำลังลืมตาอ้าปากได้ถดร่นลงมากลายเป็น “ คนจน” ไปแล้ว เพราะจากสถิตปีก่อนระบุไว้ว่าคนยากจนมีเพียงหกล้านกว่าคนเท่านั้น

“ความหวัง” สำคัญสองเรื่องที่เสื่อมสลายลงนี้จะส่งผลกระทบต่อมิติที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมความคิดผู้คนของคณะรัฐประหาร ได้แก่ “ ความกลัว” ไม่ว่าจะเป็น “ความกลัว” จากอำนาจรัฐที่ไม่มีขื่อมีแป เช่น กรณีไผ่ ดาวดิน หรือ “ ความกลัว” ต่อความเปลี่ยนแปลงของบรรดากลุ่มชนชั้นกลางเดิม เพราะเขาทั้งหมดจะเริ่มรู้สึกว่าหากสยบอยู่ภายใต้ “ ความกลัว” ทางสังคมเช่นนี้ ชีวิตของพวกเขาก็จะไร้หวังมากขึ้น

การลุกขึ้นท้าทาย “ ความกลัว” ที่เดิมเคยกลัวจะเกิดมากขึ้น และจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง

ปีที่สี่ของคณะรัฐประหารจึงเป็นปีที่สังคมไทยต้องคิดและไตร่ตรองให้ดี เพื่อแสวงหาแนวทางในการ “ควบคุม” การเคลื่อนไหวทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง ( Spontaneous Uprising )ไม่ให้ทำร้ายสังคมไทยไปมากกว่านี้