ชาตินิยม

ชาตินิยม

ปี 2016 มี 2 เหตุการณ์สำคัญ นั่นคือ Brexit และ ชัยชนะของทรัมป์ มันนอกเหนือความคาดหมายของผู้คน จึงเกิดความวิตก

กังวลไปทั่วว่า ชาตินิยมจะกลับมาเป็นกระแสหลักทางการเมืองของโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะปีนี้ 2017 ที่มีการเลือกตั้งใหญ่ในยุโรป

ผลการเลือกตั้งที่เนเธอร์แลนด์ 15 มีนาคม ทำให้ผู้คนคลายกังวลลงไปบ้าง พรรครัฐบาลได้จำนวนสส.สูงสุดและเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่โฟกัสสำคัญอยู่ที่การเลือกตั้งฝรั่งเศส 7 พฤษภาคม เมื่อมาครงจากสายกลางเอาชนะเลอแปงจากพรรคขวาจัดไปได้ กระแสชาตินิยมใหม่ในยุโรปดูจะหมดพลังลงไป

เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองโลกที่พลิกไปพลิกมา ชัยชนะของทรัมป์และเบร็กซิทให้บทเรียนอะไร ? เราจะหาคำตอบกันจากมุมมองของโหราศาสตร์

โหราจารย์ในอดีตตั้งแต่ยุคนีโอบาบิโลเนีย อียิปต์ กรีก ถือว่าเมษคือจุดเริ่มต้นจักรราศี ลัคนาโลก (World) ย่อมอยู่ที่ราศีเมษ ภพ 10 อันหมายถึงการเมือง การปกครอง ผู้นำประเทศ ฯลฯ ก็คือราศีมังกร เสาร์คือดาวครองราศีมังกร โหราศาสตร์จึงถือว่า เสาร์คือดาวแห่งการเมืองการปกครอง

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเดือนสิงหาคม 1945 อเมริกากระตุ้นเศรษฐกิจภายในด้วยกฎหมาย GI Bill โดยให้สิทธิ์กู้เงินซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ทหารหลายล้านคนที่กลับจากยุโรป มันทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างมากและส่งผลต่อเนื่องไปยังธุรกิจอื่น เศรษฐกิจเติบโตดีมาก เด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมหาศาลจนกลายเป็นยุค Baby Boomer นี่คืออิทธิพลของวัฏจักรเสาร์พลูโตเมื่อสิงหาคม 1947 ที่ 20 องศากรกฎ

ความรุ่งเรืองของอเมริกาทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวตามไปด้วย แต่วัฏจักรเสาร์พลูโตก็นำมาซึ่งผลอันไม่พึงปรารถนาเช่นกัน พลูโตคือสงคราม เสาร์คือการจำกัดขอบเขต สิ่งที่เกิดขึ้นคือสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ รวมถึงสงครามตัวแทนในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น สงครามเกาหลี (มิถุนายน 1950 – กรกฎาคม 1953)

วัฏจักรเสาร์พลูโตกินเวลา 35 ปี วัฏจักรรอบใหม่เกิดขึ้นพฤศจิกายน 1982 ที่ 3:59 องศาตุลย์ ตุลย์คือราศีแห่งการประสานสัมพันธ์ พลูโตหมายถึงการเปลี่ยนแปลง (Transformation) มันชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของอำนาจทางการเมืองระดับโลก นั่นคือการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น

ในวัฏจักรนี้ เสาร์อยู่ตุลย์เป็นอุจจ์ รัฐบาลและภาคการเมืองเข้มแข็งมาก อเมริกาโซเวียตแข่งกันสร้างสมอาวุธอย่างหนัก จนนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจทั้ง 2 ฝ่าย อเมริกามีระบบเปิดจึงเกิดก่อน ประธานาธิบดีนิกสันต้องยกเลิกการแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำ (ตาม Bretton Woods System) เมื่อสิงหาคม 1971 ปัญหายังไม่หมดสิ้น อเมริกาต้องทำข้อตกลง Plaza Accord เดือนกันยายน 1985 ในยุคประธานาธิบดีเรแกน เพื่อลดค่าเงินดอลลาร์ (อีกครั้ง) เมื่อเทียบกับมาร์คและเยน

โซเวียตมีระบบปิด จึงไม่ปรากฏอาการ แต่เศรษฐกิจภายในเกิดปัญหาหนัก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้นปี 1985 เสาร์ยกเข้าพิจิก ร่วมราศีกับมฤตยู มฤตยูคือคิดนอกกรอบและทำสิ่งใหม่ มิคาอิล กอร์บาเชฟขึ้นเป็นเลขาธิการโปลิตบูโรเดือนมีนาคม เขาใช้นโยบาย Glasnost (เปิดกว้าง) และ Perestroika (ปฏิรูป) ทั้งเซ็นสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์และฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอเมริกา แต่มันช้าเกินไป โซเวียตเริ่มสูญเสียอำนาจในการควบคุมรัฐบริวาร

กุมภาพันธ์ 1988 เสาร์มฤตยูเริ่มวัฏจักรใหม่ ที่ 6:14 องศาธนู มฤตยูหมายถึงอิสรภาพ เกิดกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในเยอรมันตะวันออกและรัฐบริวาร เช่น เอสโตเนีย ลัตเวีย ฯลฯ แต่จังหวะดาวยังไม่จบ เสาร์เข้ากุมเนปจูนต่อ เกิดเป็นวัฏจักรเสาร์เนปจูนใหม่เมื่อมีนาคม 1989 ที่ 18:12 องศาธนู เนปจูนคือการสลาย กำแพงเบอร์ลินพังทลายในเดือนพฤศจิกายน ยุโรปตะวันออกเปลี่ยนไปสู่การเมืองเสรี การเปลี่ยนแปลงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มิถุนายน 1990 สถาปนาสาธารณรัฐรัสเซีย ธันวาคม 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลายโดยสมบูรณ์

วัฏจักรเสาร์เนปจูนคือกุญแจสำคัญที่สุด เสาร์คือการเมือง เนปจูนหมายถึงอุดมคติ ธนูเป็นราศีแห่งโลกกว้าง เกิดการเมืองใหม่ที่ให้คุณค่ากับการเชื่อมโยงทั้งโลกเข้าด้วยกัน มันคือโลกาภิวัตน์ (Globalization) วัฏจักรนี้ทำลายการปิดกั้นรวมศูนย์ของคอมมิวนิสต์ และสร้างอุดมคติใหม่ให้กับโลกเสรี

โลกาภิวัตน์เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน มันจึงลดทอนความสำคัญของประเทศและคุณค่าของชาตินิยมลงไป วัฏจักรเสาร์เนปจูนนี้เองคือผู้ไขคำตอบที่เราค้นหากันอยู่

วัฏจักรเสาร์เนปจูนกินเวลา 37 ปี จุดพีคเกิดขึ้นปลายสิงหาคม 2006 ที่ 23:56 องศากรกฎ-มังกร จากนั้นวัฏจักรเข้าสู่ขาลง โลกาภิวัตน์จะอ่อนแรง ที่จุดพีคนั้น ทั้งคู่ทำมุม 90 กับลัคนาดวงเมืองไทยพอดี วันที่ 19 กันยายน เกิดปฏิวัติรัฐบาลทักษิณที่เป็นตัวแทนกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ โดยคณะทหารคมช.และมีการตั้งรัฐบาลอนุรักษ์นิยมที่ดึงอำนาจกลับไปที่ระบบราชการ

เนปจูนยกเข้ากุมภ์ตั้งแต่ธันวาคม 2009 เสาร์ยกเข้าพิจิกพฤศจิกายน 2014 ทั้งคู่เข้ามุม 90 กันใน 2 ช่วง คือ (1) ตุลาคม 2015 – มกราคม 2016 และ (2) เมษายน – ตุลาคม 2016 มุม 90 ในวัฏจักรขาลงชี้ว่าโลกาภิวัตน์หมดแรง ขณะที่กระแสชาตินิยม (และอนุรักษ์นิยม) กลับมีกำลังแรงขึ้น

ผลคือเบร็กซิท 23 มิถุนายนที่อังกฤษถอนตัวจากอียู ชัยชนะของทรัมป์ที่ชูแนวคิดชาตินิยมสุดขั้วเมื่อ 8 พฤศจิกายน ในเมืองไทย ผลประชามติที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญใหม่เมื่อ 7 สิงหาคม ก็แสดงถึงความเบื่อหน่ายประชาธิปไตยและนักการเมือง โดยกลับหลังหันไปหาแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่นำโดยทหารและข้าราชการ

ทรัมป์และเบร็กซิทบอกเราว่า โลกาภิวัตน์ไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม มีเพียงคนที่อยู่บนยอดปิระมิดของทุนนิยมเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่คนชั้นกลางและล่างที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจกลับสูญเสียอย่างหนัก กระแสการเมืองจึงตีกลับ นี่ไม่ใช่ชัยชนะของชาตินิยม แต่เป็นความพ่ายแพ้ของโลกาภิวัตน์ต่างหาก

เสาร์ยกเข้าธนูปลายมกราคม 2017 พ้นจากมุมร้าย 90 โดยสิ้นเชิง โลกาภิวัตน์กลับมามีกำลัง เราจึงได้เห็นชัยชนะของกลุ่มสายกลางในเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส แต่เสาร์กลับพิจิกตั้งแต่ 21 มิถุนายน – 26 ตุลาคม ต้องรอลุ้นกันอีกทีช่วงนั้น

พฤศจิกายนเป็นต้นไป เสาร์ธนูโยคหลังเนปจูนกุมภ์ วัฏจักรดาวเปลี่ยนเป็นให้คุณ ประชาธิปไตยจะเข้มแข็ง อนุรักษ์นิยมจะอ่อนแรง

เลือกตั้งเมืองไทยปีหน้า อาจพลิกความคาดหมายอีกครั้ง