เป็นโสดผิดตรงไหน? แล้วทำไมต้องมีลูกมาก? ในมุมมองสิงคโปร์

เป็นโสดผิดตรงไหน? แล้วทำไมต้องมีลูกมาก? ในมุมมองสิงคโปร์

ในช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงโครงการ ‘สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ’

 โดยได้จัดกิจกรรมเสริมธาตุเหล็กและโฟลิกให้แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่อายุ 20-34 ปี ที่มีความพร้อมและตั้งใจจะมีลูก ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา อัตราการเกิดน้อยและด้อยคุณภาพของประชากรไทย

สโลแกนของโครงการที่ว่า ‘มีลูกเพื่อชาติ’ อาจทำให้คนขำขันและเอามาล้อเลียน โดยเฉพาะคนโสดทั้งหลายที่ออกมาโพสต์ในอินเทอร์เน็ต ว่าผู้หญิงไทยไม่ได้มีลูกยาก แต่มีสามียากต่างหาก จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามแต่ นโยบายส่งเสริมให้ผู้หญิงมีลูกมากขึ้นนั้นไม่ใช่นโยบายที่แปลกใหม่ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็เคยมีนโยบายสนับสนุนให้มีลูกมาก หรือหากย้อนไปดูในภูมิภาคอาเซียน ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างสิงคโปร์ก็มีนโยบายนี้ เมื่อประเทศประสบปัญหาอัตราการเกิดลดต่ำลงอย่างน่าใจหาย

จากสถิติใน Population White Paper ปี 2013 ของ National Population and Talent Division หน่วยงานที่ดูแลด้านประชากรของสิงคโปร์ ระบุว่า ในปี 2013 ผู้ชายสิงคโปร์ที่อายุระหว่าง 30-34 ปี เป็นชายโสด 4 คน ใน 10 คน และผู้หญิงสิงคโปร์ในวัยเดียวกัน ก็เป็นโสด 3 คน ใน 10 คน ผู้ชายและผู้หญิงแต่งงานช้าลงโดยอายุเฉลี่ยของผู้ชายสิงคโปร์ที่แต่งงานในปี 2011 คือ 30.1 ปี และอายุเฉลี่ยผู้หญิงที่แต่งงานคือ 27.8 ปี เมื่อแต่งงานแล้ว ก็มีลูกน้อย หรือเลือกที่จะไม่มีลูกเลย สาเหตุสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงทำให้คู่สมรสชาวสิงคโปร์ มีเงินไม่เพียงพอต่อการวางแผนมีลูก หรือไม่สามารถหยุดงานเพื่อมาเลี้ยงดูลูกได้ ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์รวมยอด (Total Fertility Rate) ซึ่งหมายถึงจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่ง ให้กำเนิดตลอดวัยเจริญพันธุ์ ลดลงเหลือ 1.2 ในปี 2011 ต่ำกว่าอัตรา Replacement rate และทำให้จำนวนประชากรสิงคโปร์ค่อยๆลดลง

รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่าหากอัตราการแต่งงานและการเจริญพันธุ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โครงสร้างของประชากรสิงคโปร์จะมีลักษณะฐานแคบ คือ คนวัยหนุ่มสาวและวัยทำงานจะมีน้อยกว่ากลุ่มคนสูงอายุ โดยคาดการณ์ว่าจากเดิมในปี 2012 คนวัยทำงาน 5.9 คน รับภาระในการเลี้ยงดูคนวัยเกษียณ 1 คน และในปี 2030 คนวัยทำงาน 2.1 คน ต้องรับภาระในการเลี้ยงดูคนวัยเกษียณ 1 คน

สถิตินี้เป็นสัญญาณอันตราย นอกจากคนวัยทำงานจะต้องแบกภาระหนักแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือ คนสิงคโปร์จะไม่สามารถเกษียณได้ ต้องทำงานไปเรื่อยๆ เพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพ ปัจจุบันพบว่าคนสูงอายุจำนวนมากในสิงคโปร์หันมารับงานทำความสะอาดตามร้านอาหารหรือขับแท็กซี่ เพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว นอกจากนี้ หากจำนวนประชากรของสิงคโปร์ยังคงลดลงเรื่อยๆ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะลดลงตามไปด้วย

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว ในเอกสารของ Population White Paper ได้กล่าวถึงการเตรียมการสร้างแรงจูงใจ เช่น โครงการ Parenthood Priority Scheme ให้คู่สมรสชาวสิงคโปร์ที่มีลูก มีสิทธิ์เข้าอยู่ในแฟลตของรัฐบาลได้ก่อนคนอื่น มีการจ่ายโบนัสสำหรับคนที่มีลูก โดยโบนัสจะยิ่งเพิ่มขึ้นหากมีลูกมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการที่จะให้ผู้หญิงที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว สามารถลาคลอดและเลี้ยงดูลูกได้ และมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาล รวมทั้งผู้ชายที่เป็นพ่อ ก็สามารถลางานเพื่อช่วยเลี้ยงดูลูกได้ จากนโยบายทั้งหมดนี้ รัฐบาลคาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ จาก 1.2 เป็น 2.1 ในปี 2060

ไม่ว่านโยบายจะดีแค่ไหน การเป็นโสดหรือการแต่งงานมีลูกนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับมิติทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่รักชีวิตอิสระก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นโยบายกระตุ้นการมีลูกยังไม่ได้ผลมากนัก และปัจจุบันความสัมพันธ์ในโลกก็เปิดกว้างและหลากหลายมากขึ้นกว่าความสัมพันธ์แบบชายหญิงที่ต้องแต่งงานมีลูก

รัฐบาลสิงคโปร์ยังมองหาทางออกแบบอื่นด้วย เช่น การรับผู้อพยพที่มีคุณภาพเข้ามามากขึ้น โดยตั้งเป้าที่จะรับผู้อพยพจำนวน 15,000 – 25,000 คนต่อปี มาเป็นพลเมืองสิงคโปร์เพื่อทดแทนจำนวนประชากรเดิม ในขณะที่รัฐบาลก็ต้องรับภาระใหญ่ที่ตามมาในการทำให้พลเมืองใหม่เข้ากันได้กับพลเมืองเดิม รวมทั้งต้องทำให้พลเมืองเดิมไม่ต่อต้านหรือรู้สึกว่าตนเองเสียผลประโยชน์จากการมีผู้อพยพเข้ามา

ปัญหาว่าด้วยความเป็นโสด หรือการแต่งงานมีลูก จึงซับซ้อนมากไปกว่าที่เราคิด ถึงแม้คนโสดหลายคนอาจพึงพอใจกับสถานะโสดของตนเอง และไม่เดือดร้อนกับชีวิตอิสระ แต่รัฐซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนประชากรและแรงงานอาจเดือดร้อน และต้องพยายามหาวิธีที่ทำให้ประชากรสละโสดและมีลูกต่อไป

..................................................

ดร.เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ

วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักวิจัยฝ่าย 1 สกว.