หลักความเป็นธรรม

หลักความเป็นธรรม

รัฐบาลเตรียมปรับปรุงการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ โดยระบุว่าเพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีพ

ในสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงการคลังได้เสนอให้เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุจากเดือนละ 600-1,000 บาท เป็น 1,200-1,500 บาทตามช่วงอายุ และประเมินว่าในปี 2568 ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มเป็น 20% ของประชากร จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 10.3 ล้านคน หรือ 16% โดยในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุที่จัดอยู่ในกลุ่มรายได้น้อยราว 3.5 ล้านคน และหากคิดเป็นภาระงบประมาณในแต่ละปีถือว่าค่อนข้างมาก

กระทรวงการคลังเตรียมเสนอแนวทางการแก้ปัญหา เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลไม่ต้องการจ่ายงบประมาณให้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเห็นว่าควรมีการจัดตั้งกองทุนชราภาพขึ้นมา โดยงบประมาณส่วนนี้จะมาจากผู้สูงอายุที่มีฐานะและรายได้ยอมสละสิทธิ์ จากนั้นนำเงินส่วนนี้มาจัดตั้งกองทุนเพื่อไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยคาดว่าหากมีการละสิทธิ์ 10% จะมีเงินเข้ากองทุนชราภาพถึง 4,000 ล้านบาท และหากมีการบริหารจัดการก็สามารถนำดอกผลไปให้กับผู้มีรายได้เพิ่มขึ้น

หลักการของกระทรวงการคลังที่พยายามหาทางออก ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุและมีรายได้น้อย แม้ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญมากสำหรับสังคมไทย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่คาบเกี่ยว ระหว่างหลักของความเป็นธรรมทางสังคม กับหลักทางกฎหมายในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ต้องแย่งกันทำมาหากินด้วย และการดำรงชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยงต่างๆทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้ก็ยิ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างมาก

หากพิจารณาในเรื่องหลักความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว หลักการของกระทรวงการคลังถือว่ามีความถูกต้องโดยสมบูรณ์ เพราะมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่างๆของรัฐบาล หากยึดหลักความเป็นธรรมจำเป็นต้องคิดถึง หรือให้ความช่วยเหลือกับผู้เสียเปรียบที่สุดในสังคมเป็นอันดับแรก และไม่อาจจะเอาหลักของกฎหมายในเรื่องสิทธิมาพิจารณาร่วมกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมีความซับซ้อนยุ่งเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆด้วย ทำให้การยกเว้นกฎหมายกรณีนี้เป็นเรื่องยุ่งยาก

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลต้องการให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมอย่างแท้จริง จำเป็นต้องเริ่มต้นจากเรื่องนี้ก่อน เพราะนอกจากจะไม่มีความยุ่งยากมากแล้ว ยังเป็นเรื่องที่สามารถจับต้องได้สำหรับผู้ที่ได้รับโดยตรง ซึ่งเราเห็นด้วยกับหลักการของกระทรวงการคลังในการหามาตรการช่วยเหลือในเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องชี้แจงให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในสังคม คือ ต้องมีการอธิบายให้รอบด้านว่ามีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มผู้สูงอายุและมีรายได้น้อย

อันที่จริงนโยบายจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยมจากรัฐบาลก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นนโยบายที่ล้มเหลวหรือไม่มีข้อดี เพียงแต่ว่านโยบายประชานิยมก่อนหน้านี้มักจะประกาศใช้เป็นการทั่วไป โดยยึดหลักการทางสิทธิทางกฎหมายเป็นหลัก ในขณะที่หลักความเป็นธรรมเป็นเรื่องรองลงไป ดังนั้นทำให้ผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมายสามารถรับสิทธิประโยชน์ทุกคน ดังนั้นหากรัฐบาลยึดหลักความเป็นธรรมก็จำเป็นต้องปรับหลักการใหม่ของนโยบายประชานิยมเดิม

เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะนอกจากจะทำให้คนไทยหันมาคิดในเรื่องความเป็นธรรมที่เห็นได้ชัดเจนแล้ว อาจทำให้คนไทยได้ตระหนักถึงหลักการที่สำคัญหากเราพูดถึงความเป็นธรรมทางสังคม เพราะปัญหาเรื่องความเป็นธรรมนั้นสามารถพูดได้หลายแง่มุม เพียงแต่เราจะพิจารณาจากแง่มุมไหนเท่านั้น ซึ่งจากกรณีเบี้ยผู้สูงอายุจะเห็นได้ว่ารัฐบาลคิดหลักความเป็นธรรมค่อนข้างเป็นสากล นั่นคือ คิดถึงผู้เสียเปรียบที่สุดในสังคมเป็นอันดับแรกสุด ส่วนหลักการอื่นเป็นเรื่องรอง