เมื่อผู้นำไทยและสิงคโปร์ ไม่ปรากฏตัวที่งาน Obor ปักกิ่ง

เมื่อผู้นำไทยและสิงคโปร์ ไม่ปรากฏตัวที่งาน Obor ปักกิ่ง

นายกรัฐมนตรีไทยกับนายกฯสิงคโปร์ ไม่ได้ไปร่วมงานประชุมสุดยอด One Belt, One Road (Obor)

 ที่ปักกิ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เกิดคำถามว่าเพราะอันใด?

คำอธิบายทางการในกรณีไทยบอกว่าจีนได้เชิญนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปร่วมประชุมสุดยอด BRICS หรือ Brazil, Russia, India, China และ South Africa และผู้นำไทยได้ตอบรับแล้ว จึงเชิญรัฐมนตรีไทย 6 ท่านไปงาน “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” แทน

บางเสียงกระซิบว่าเหตุผลที่แท้จริง อาจจะเป็นเพราะปักกิ่งหงุดหงิดเรื่อง การที่ไทยไม่ยอมสรุปการเจรจาเรื่องสร้างรถไฟกับจีนเสียทีทั้ง ๆ ที่คุยกันมากว่า 17 รอบแล้ว

ผมได้รับคำบอกเล่าจากคุณวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศว่าเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับการเจรจารถไฟไทยกับจีนเพราะกำลังจะเริ่มก่อสร้างกันในปีนี้

ที่นายกฯไทยไม่ได้ไปประชุมสุดยอด Obor ที่ปักกิ่งรอบนี้เพราะผู้นำจีนได้เชิญนายกฯไทยไปร่วมงาน BRICS+9 ก่อนหน้านี้ และนายกฯไทยก็ได้รับปากไปร่วมงานนี้ ซึ่งน่าจะโดดเด่นกว่างาน Obor ซึ่งจะเหมือนเป็นงาน 30+1 มากกว่า

คุณวีระศักดิ์บอกว่าเป็นหนึ่งใน 1 ใน 14 ย่อมจะเด่นกว่าเป็น 1 ใน 31

สาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไรคงต้องพิเคราะห์กันต่อไป นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าที่ไทยกับจีนไม่ต้องเออออห่อหมกกันทุกเรื่อง บางทีก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เลวนักเพราะจีนมักเปรียบเปรยเรื่อง “ลิ้นกับฟันย่อมกระทบกันบ้าง” อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องตื่นเต้นอะไรกับการที่ผู้นำไทยไม่ได้ร่วมงานบางงานของจีน

นายกฯหลี่เสียนหลง ของสิงคโปร์ก็พลาดงานนี้ ส่งรัฐมนตรีพัฒนาแห่งชาติที่ชื่อลอเรนซ์ หว่องไปแทน

ถ้าเทียบกันอย่างนี้ ไทยเราก็ยังมีความสนิทชิดเชื้อกับจีนมากกว่า เพราะเขาเชิญรัฐมนตรีไปถึง 6 คน

ข่าววงการทูตบอกว่าจีนมองว่าสิงคโปร์ไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นในการร่วมมือเรื่อง Obor มากนัก ความสนิทสนมแน่นแฟ้นแบบเก่าจึงจืดจางลง บางเรื่องถูกตีความว่าสิงคโปร์เอาใจออกห่างจีน ใกล้ชิดกับสหรัฐมากกว่าด้วยซ้ำ

กรณีการประชุมสุดยอดที่ปักกิ่งรอบนี้ ข่าวบางกระแสบอกว่าสิงคโปร์ต้องการให้จีน ส่งจดหมายเชิญนายกฯสิงคโปร์เป็นทางการทั้ง ๆ ที่ผู้นำชาติอื่นไม่ได้เรียกร้องให้มีการออกเทียบเชิญ สำหรับสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เพียงแค่บอกกล่าวกันก็พร้อมที่จะไปเป็นส่วนหนึ่งของงานอลังการครั้งนี้

ในการให้สัมภาษณ์บีบีซีเมื่อเดือนมีนาคม นายกฯหลี่บอกว่า “ผมไม่คิดว่าเรามีปัญหาใหญ่โตอะไรกับจีน แต่อาจจะมีบางเรื่องบางกรณีบ้าง...”

“บางเรื่องบางกรณี” ที่ว่านี้คืออะไรไม่แน่ชัด แต่เมื่อปีที่แล้ว สิงคโปร์ได้รับมอบหมายให้เห็น “ผู้ประสานงาน” ระหว่างจีนกับอาเซียนในกรณีข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่ไม่ได้เอาใจปักกิ่งทั้งหมด ได้พยายามจะรักษา “ระยะห่าง” กับจีนในเรื่องนี้เพื่อไม่ให้อิทธิพลจีนครอบงำอาเซียนมากเกินไป

ต้องไม่ลืมว่าสิงคโปร์ยอมให้สหรัฐใช้ฐานทัพเรือของตน ในการส่งเรือและเครื่องบินลาดตระเวน Poseidon เข้าปฏิบัติการในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดความระแวงสงสัยระหว่างจีนกับสิงคโปร์ คือการที่ฮ่องกงยึดรถหุ้มเกราะทหารบก 9 ลำจากไต้หวันหลังจากการซ้อมรบร่วมที่นั่น

เรื่องสิงคโปร์ไปทำกิจกรรมซ้อมทางทหารที่ไต้หวันไม่ใช่ความลับอะไร แต่พอมีการยึดรถทหารของสิงคโปร์ที่ฮ่องกง ปักกิ่งก็ส่งเสียงประท้วงอย่างเป็นทางการ กว่าที่ทางการฮ่องกง (โดยคำสั่งของทางการปักกิ่ง) ยอมปล่อยรถทหารชุดนั้นให้สิงคโปร์ก็เสียเวลาไปสามเดือนเศษ

ต้องไม่ลืมว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศสนับสนุน TPP ที่สหรัฐฯภายใต้โอบามาผลักดันอย่างเปิดเผย ขณะที่จีนเป็นแกนหลักของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกอีกกลุ่มหนึ่งคือ RCEP ที่เชื่อว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของ TPP

ประเด็นเหล่านี้จะเกี่ยวโดยตรงกับความระหองระแหง ระหว่างสิงคโปร์กับจีนในช่วงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่การไม่ปรากฏตัวของนายกฯ หลี่เสียนหลุงในการประชุมสุดยอด Obor เมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้ต้องมีการ “ทบทวน” แนวคิดเดิมที่ว่าจีนกับสิงคโปร์ “ซี้กัน” สุด ๆ อีกครั้งเสียแล้ว