สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination Right)

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination Right)

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองหรือในชื่ออื่น เช่น สิทธิในการกำหนดใจตนเอง, สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง

 สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง, สิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเอง ฯลฯ (ซึ่งผมเลือกที่จะใช้คำว่าสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองเพราะเห็นว่ามีความหมายใกล้เคียงที่สุด) นั้นสำหรับคนไทยเราดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งค่อนข้างใหม่ โดยเพิ่งคุ้นเคยหลังจากที่มีการรณรงค์ในเรื่องจังหวัดจัดการตนเอง หรือการพยายามเสนอร่างกฎหมายเชียงใหม่มหานคร,ปัตตานีมหานคร ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง แต่ในวงวิชาการนั้นมีมานานแล้ว นานกว่าการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติเสียอีก กอปรกับการพยายามในการเปิดกระบวนการสันติภาพขึ้นในภาคใต้ แนวคิดเรื่องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะมีผลทางกฎหมายระหว่างประเทศกำกับไว้ด้วย

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination Right) คืออะไร

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง คือ สิทธิของประชาชนในการมีอิสระ ที่จะตัดสินใจเลือกสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง

ความเป็นมา

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 18 จากกระแสชาตินิยมของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ที่กระจายอยู่ในจักรวรรดิและราชอาณาจักรต่างๆในยุโรป และได้พัฒนาจิตสำนึกความเป็นชาติและแปรสภาพการเป็นชุมชนทางวัฒนธรรมมาสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง เป็นการเรียกร้องในเรื่องชาตินิยมเป็นหลัก เป็นเรียกร้องสิทธิของแต่ละชาติในการเป็นรัฐชาติ (Nation State) ซึ่งในระยะแรกๆจึงมุ่งไปที่กระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม(The Process of Decolonization) และได้พัฒนาลงไปยังกลุ่มชนต่างๆในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมือง เช่น การมีสถานะปกครองตนเอง (Autonomous State) เป็นต้น

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองโดยมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งแรกคือมติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธ.ค. ค.ศ.1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 ของมติดัง กล่าวว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง การพัฒนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี” ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ บรรดาดินแดนที่อยู่ใต้อาณานิคมต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

นอกจากนี้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองมิใช่เป็นเพียงการให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมเท่านั้น แต่สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองยังถูกใช้ในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อกำจัดการเหยียดสีผิวด้วย เช่น ในแอฟริกา (Africa) และการเรียกร้องสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมหรือปัญหาพื้นที่ที่ถูกยึดครอง เช่น ปาเลสไตน์และติมอร์ตะวันออก เป็นต้น

หลักการ

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองได้ถูกบรรจุไว้ในตราสารระหว่างประเทศที่สำคัญๆ ซึ่งรวมถึงกฎบัตรสหประชาชาติและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิพลเมือง(ICCPR),กติการะหว่างประเทศว่าด้วยเศรษฐกิจ สังคม

และวัฒนธรรม(ICESCR) เป็นต้น มติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติอีกในหลายกรณี และในคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลก เช่น คดีติมอร์ตะวันออก(Portugal V. Australia)1995 ซึ่งศาลโลกได้รับรองสิทธิของประชาชนในการกำหนดอนาคตตนเอง ว่าเป็นหลักการที่สำคัญอย่างยิ่งของกฎหมายระหว่างประเทศ และมีลักษณะบังคับเป็นการทั่วไป (erga omnes)

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองประกอบด้วยสิทธิทั้งภายในและภายนอก ได้แก่

1) สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองภายใน(Internal self-determination)

1.1 เกณฑ์ด้านการเมือง (The political aspects) ประกอบด้วยสิทธิของประชาชนที่รวมตัวในเขตพื้นที่ที่มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อกำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเองในวิถีทางประชาธิปไตย(เช่น จังหวัดจัดการตนเอง) หรือสิทธิของประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัฐที่เป็นเอกราชและมีอธิปไตยในการเลือกรัฐบาลของตนเองอย่างเป็นอิสระ เพื่อก่อตั้งสถาบันที่ทำหน้าเป็นตัวแทนและเพื่อเลือกผู้แทนของตนผ่านกระบวนการที่เป็นอิสระและมีเสรีภาพ

1.2 เกณฑ์ด้านเศรษฐกิจ (The economic aspects)สิทธิของประชาชนทั้งปวงในการตัดสินใจในระบบเศรษฐกิจที่พวกเขาอาศัยอยู่ ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติ

1.3 เกณฑ์ด้านสังคม (The social aspects) สิทธิของประชาชนในการเลือกและกำหนดระบบสังคมที่ตนอาศัยอยู่ รวมถึงความยุติธรรมในสังคมที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับตลอดจนการใช้สิทธิทางสังคมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

1.4 เกณฑ์ด้านวัฒนธรรม (The cultural aspects) สิทธิของประชาชนในการมี การใช้และการเพิ่มพูนมรดกทางวัฒนธรรม

2) สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองภายนอก (External self-determination)

สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองภายนอก เกิดขึ้นในกรณีถึงที่สุดเมื่อประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ ในการกำหนดอนาคตตนเองภายในได้ ภายใต้สถานการณ์ที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งรวมถึงสิทธิในการผลักดันการแทรกแซงโดยกองกำลังอาวุธจากภายนอก (foreign armed intervention) และยึดครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (occupation) โดยได้รับการรับรองจากกฎหมายระหว่างประเทศ ดังตัวอย่างของประเทศกัมพูชาที่มีมติสหประชาชาติออกมารับรองการใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองภายนอก เพื่อผลักดันให้เวียดนามถอนกำลังออกไป เป็นต้น

อย่างไรก็ตามประเด็นที่สำคัญที่สุดภายใต้อนุสัญญาของสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้กำหนดขอบเขตของสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ในแง่ที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ภายใต้กรอบของรัฐที่ดำรงอยู่ ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ว่าด้วยความสัมพันธ์ฉันมิตรและแถลงการณ์เวียนนาระบุว่า

“(สิทธิดังกล่าว) ไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นการให้อำนาจ หรือการส่งเสริมการดำเนินการใดๆ ที่อาจแบ่งแยกหรือทำให้บูรณาภาพแห่งอาณาเขต หรือเอกภาพทางการเมืองของรัฐที่เป็นเอกราช และอธิปไตยดังกล่าว...อ่อนแอลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน"

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง รับรองให้ประชาชนมีอิสระในการเลือกสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตน และสิทธินี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และถือเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเด็ดขาด (Jus cogens) ที่มีลักษณะเป็นการผูกพันโดยทั่วไป (Erga omnes) ที่รัฐไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติต้องปฏิบัติตาม โดยไม่ต้องระแวงว่าการจัดการตนเองจะเป็นการนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนแต่อย่างใด