Trumponomics (6): เศรษฐกิจกับการเมือง

Trumponomics (6): เศรษฐกิจกับการเมือง

กว่า 100 วันผ่านไปสำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดี ที่นำมาสู่ความแตกแยกทางความคิดคนหนึ่งของสหรัฐ

 หลายเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่นักวิเคราะห์ นักลงทุน รวมถึงประชาชนทั่วไปจับตาดูคือแนวนโยบายต่าง ๆ สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่

หากนับแนวนโยบายที่ทรัมป์ได้ประกาศว่าจะทำหลังจากเข้ารับตำแหน่ง จะพบว่ามีได้ดำเนินการตามแผนพอสมควร ทั้งในด้านการค้า การลดทอนกฎระเบียบ รวมถึงแนวนโยบายการคลัง ไม่ว่าจะเป็นการออกจากการเข้าร่วมข้อตกลง TPP การประกาศเจรจาเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ใหม่ การประกาศลดทอนกฎระเบียบภาครัฐ ข้อเสนอการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการเงิน ข้อเสนอด้านการลดทอนภาษี และการผลักดันร่างกฎหมายประกันสุขภาพใหม่ให้ผ่านสภาล่างแล้ว เป็นต้น

แต่ก็มีหลายนโยบายที่ทรัมป์ไม่สามารถทำได้ตามที่ประกาศ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าจีนเป็นผู้บิดเบือนค่าเงิน การตั้งกำแพงกับชายแดนประเทศเม็กซิโก การเนรเทศผู้อพยพออกจากประเทศ รวมถึงการผลักดันข้อเสนอต่าง ๆ ข้างต้นให้ผ่านทั้งสองสภาและมีผลบังคับใช้

การที่หลายนโยบายไม่สามารถทำได้ตามที่ประกาศนั้น เป็นเพราะเหตุผล 3 ประการ คือ หนึ่ง สถานการณ์โลกและในประเทศไม่เอื้ออำนวย เช่น ความเสี่ยงสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ทำให้สหรัฐต้องญาติดีกับจีนมากขึ้น สอง การเปลี่ยนใจของทรัมป์เอง เช่น การที่สหรัฐไม่ถอนตัวจาก NAFTA ทันที เป็นเพราะทรัมป์ได้ฟังผู้นำแคนาดาและเม็กซิโก รวมทั้งข้าราชการสหรัฐเองที่ชี้ถึงผลเสียจากการถอนตัว และ สาม จากความผิดพลาดของเขาเอง โดยเฉพาะประเด็นการปลดผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) ที่นำไปสู่วิกฤติทางการเมือง

ดังนั้น หากจะให้มองภาพเศรษฐกิจของสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ได้หรือไม่นั้น ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาในหลักการของนโยบายเศรษฐกิจทรัมป์ (Trumponomics) ก่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น หลักใหญ่

หลักประการแรก ได้แก่ การค้ายุติธรรม (Fair trade) โดยคำว่ายุติธรรมสำหรับทรัมป์คือ สหรัฐต้องได้ดุลหรือเกินดุลทางการค้าในทุกผลิตภัณฑ์และทุกประเทศที่ทำการค้ากับสหรัฐ ขณะที่ด้านการลงทุนจะต้องดึงให้บริษัทข้ามชาติกลับมาลงทุนในสหรัฐเพื่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

หลักประการที่สอง ได้แก่ กฎระเบียบต้องถูกลดทอนให้มากที่สุด (Deregulation) เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอ “1-in-2-out” หรือการบังคับหน่วยงานราชการว่าถ้าจะตั้งกฎหมายใดขึ้นใหม่ จะต้องยกเลิกกฎหมายเดิม 2 ฉบับ เป็นต้น

หลักประการที่สาม ได้แก่ นโยบายการคลังจะต้องผ่อนคลาย (ซึ่งได้แก่การลดภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และสร้างโครงสร้างพื้นฐาน) ให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงวินัยทางการคลังและการขาดดุลงบประมาณ เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นและจะทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้นในภายหลัง (หรือตามศัพท์ของทีมทรัมป์คือ Dynamic Scoring ในการคาดการณ์เศรษฐกิจและนโยบายการคลังในอนาคต)

นโยบายทั้งสาม บ่งชี้ว่า หลักการของ Trumponomics คือแนวนโยบายเศรษฐกิจที่คิดโดยนักธุรกิจเพื่อประโยชน์ระยะสั้นสูงสุดต่อธุรกิจสหรัฐ โดยไม่คำนึงผลของความยั่งยืนระยะยาว ซึ่งหากสามารถทำได้เต็มที่ 100% ในทุกนโยบาย แม้จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นในระยะสั้น แต่อาจนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในระยะต่อไป เช่น อาจเกิดสงครามการค้า ราคาสินค้าในสหรัฐเองสูงขึ้น (จากการขึ้นภาษีนำเข้า) เกิดการว่างงานมากขึ้น (เพราะบริษัทที่กลับมาในประเทศจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และลดทอนการใช้กำลังคนมากขึ้น) รวมถึงอาจเกิดวิกฤติการเงินหากกฎระเบียบด้านการเงินหย่อนยานเกินไป

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้สูงว่านโยบายต่าง ๆ ที่ทรัมป์ประกาศนั้นจะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวทางด้านการเมืองของเขาเองที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยสามารถแบ่งแนวทางการบริหารประเทศของเขาเป็น ประการ

ประการที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้หลักการบริหารเศรษฐกิจแบบประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ในการบริหารประเทศ ซึ่งโดยหลักคือ CEO มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารบริษัทนั้น ๆ และใครที่ไม่เห็นด้วยกับ CEO ก็อาจถูกปลดออกได้โดยง่าย โดยกรณีของทรัมป์คือการปลดรักษาการอัยการสูงสุด แซลลี่ เยตส์ หลังจากที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งประธานาธิบดีในการห้ามประชาชนจาก 6 ชาติมุสลิมเข้าประเทศ และการปลดผู้อำนวยการ FBI เจมส์ โคมีย์ โดยให้เหตุผลว่าโคมีย์ทำงานไม่มีประสิทธิภาพในกรณีการสืบสวนอีเมล์ของนางฮิลารี่ คลินตัน

ประการที่สอง ได้แก่ หลักการคิดแบบ Static Thinking หรือการคิดที่ว่าทุกสิ่งคงที่ แทนที่จะคิดแบบพลวัตหรือ Dynamic Thinking กล่าวคือ ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของตน เช่น การทำนโยบายกลาโหมในเชิงก้าวร้าว (เช่นการยิงขีปนาวุธในซีเรียและอัฟกานิสถานเพื่อส่งสัญญาณไปยังผู้นำเกาหลีเหนือ) จะนำไปสู่ความตึงเครียดและความเสี่ยงสงครามที่สูงขึ้น แทนที่จะทำให้ผู้นำเกาหลีเหนือยอมจำนน หรือการปลดผู้อำนวยการ FBI จะนำไปสู่การสอบสวนความเชื่อมโยงของทีมงานของเขาเองกับรัสเซีย เป็นต้น

ประการสุดท้าย ได้แก่ การยึดถือหลักข้อตกลงแทนที่จะยึดถือหลักการ (Deal-based rather than Rule-based) กล่าวคือทุกข้อตกลงขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลง รวมถึงความสัมพันธ์ส่วนตัว แทนที่จะยึดในหลักการ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการเจรจาการค้าแบบพหุภาคี และหันไปยึดหลักทวิภาคีแทน รวมถึงกรณี FBI ที่ไม่ไต่สวนให้รอบคอบก่อนไล่ออก เป็นต้น

แนวทางทั้งสามเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ ซึ่งในท้ายที่สุดจะย้อนมาทำให้ทรัมป์เองไม่สามารถผลักดันนโยบายต่าง ๆ ตามที่ประกาศได้มากนัก

ปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้าทรัมป์นั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวทางการบริหารของทรัมป์เอง และอาจทำให้ทรัมพ์ไม่สามารถผลักดันแนวนโยบายเศรษฐกิจของเขาได้ทั้งหมด รวมถึงหากรุนแรงอาจทำให้เขาต้องออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้

คำถามคือ นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้กำหนดนโยบาย ได้ซึมซับนัยยะของวิกฤติการเมืองครั้งนี้แล้วหรือยัง

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่