ว่าด้วยการลดงบดุลเฟดในคืนนี้

ว่าด้วยการลดงบดุลเฟดในคืนนี้

ในขณะที่หลายท่านเฝ้ารอ Minute ของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดในคืนนี้ หนึ่งในหัวข้อที่ถือเป็นไฮไลท์ของหลายคน

ได้แก่ การลดงบดุลเฟดว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากครั้งก่อนที่เขียนไว้ว่า ‘การเปลี่ยนแปลงในนโยบายการลงทุน สำหรับตราสารการเงินที่ครบอายุของเฟด น่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในช่วงปลายปีนี้’ จุดนี้ ถือเป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนหลายคนมองถึงผลกระทบที่เป็นไปได้ ของการลดขนาดนโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ต่ออัตราดอกเบี้ยและเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ย

โดยที่แผนของเฟดแบบคร่าวๆในการลดขนาดงบดุลได้แก่ พอร์ตโฟลิโอของเฟดในส่วนที่เป็นพันธบัตรรัฐบาล และตราสารการเงินที่มีสินเชื่อบ้านหนุนหลัง (MBS) จะค่อยๆลดขนาดลงแบบที่มีการประกาศไว้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่ผ่านการทำให้ตราสารหนี้ครบอายุไปเองแทนที่จะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนใหม่ รวมถึงจะไม่มีการขายตราสารหนี้ออกมาโดยตรงในตลาด ทั้งนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวจะเริ่มต้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมระหว่างธนาคาร หรือเฟดฟันด์อยู่ที่ประมาณ 1.5% และเมื่อเฟดมั่นใจว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายการเงินในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่นักวิเคราะห์หลายท่านรอคอย Minute เฟดในคืนนี้ คือคำใบ้จากเฟดว่าปฏิบัติการดังกล่าวข้างต้นจะเริ่มต้นทันทีในช่วงปลายปี หรือจะค่อยๆ ทยอยเริ่มไปเรื่อยๆ แบบเป็นตารางเวลา ทว่าสิ่งที่หลายท่านมองว่าเฟดน่าจะประกาศในคืนนี้ คือการให้ลดงบดุลเฟดเป็นแผนระยะยาวที่มีความชัดเจนในตารางเวลาการปฏิบัติเพื่อให้ไม่มี Surprise ต่อตลาดในอนาคต ส่วนการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องมือของนโยบายการเงินในระยะสั้น

คำถามที่น่าสนใจมากสำหรับการลดงบดุลเฟดขนาดมหึมาจาก 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในตอนนี้ หากทำให้เหลือเท่ากับตอนปื 2007 ที่ระดับ 9 แสนล้านดอลลาร์ จะเกิดอะไรขึ้นต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงิน? จากงานศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ของเฟดที่นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด อ้างถึง ประเมินผลกระทบของโครงการ QE ทั้งหมดว่าทำให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ลดลง 1.2% ในปี 2013 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการทำ QE เพิ่ม รวมถึงประมาณว่าทำให้อัตราการว่างงานลดลง 1.25% และอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5% นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลยังประมาณว่า QE ได้ทำให้ราคาตราสารทุนเพิ่มขึ้น 11-15 % และลดอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ประมาณ 4.5-5% จึงทำให้หลายคนกังวลว่าการลดขนาดงบดุลครั้งแรกของสหรัฐ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินเป็นอย่างมาก เหมือนช่วงที่ทำ QE ดังที่กล่าวไว้ อย่างไรก็ดี ผลกระทบในช่วงลดงบดุลอาจจะไม่แรงขนาดนั้น ด้วยเหตุผลดังนี้

หนึ่ง ขนาดการลดงบดุลของเฟดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า น่าจะไม่เยอะมากเหมือนตอนเพิ่มขนาดงบดุลจากช่วงปี 2007 เนื่องจากต้องพิจารณากลไกการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นและความต้องการสภาพคล่องของเซกเตอร์สถาบันการเงิน ที่สำคัญขาใหญ่อย่างนายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐได้ให้ความเห็นว่าขนาดงบดุลเฟดที่เหมาะสมในตอนนี้น่าจะอยู่ที่ราวๆ 2.5-2.8 ล้านล้านดอลลาร์ จึงน่าจะทำให้ผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี น่าจะลดลงราว 0.4-0.6% รวมถึงผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจก็น่าจะน้อยกว่าช่วงที่ขยายงบดุลเฟดผ่านการทำ QE ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นอยู่เยอะ

สอง จากการประเมินของเฟดสาขานิวยอร์คผ่านการสำรวจความเห็นจากดีลเลอร์ขนาดใหญ่ในสหรัฐ ปรากฎว่าตลาดได้ Price in เหตุการณ์ที่เฟดจะลดงบดุลในกลางปีหน้าไว้พอสมควรแล้ว

สาม เฟดก็ต้องคอยประเมินว่าการลดงบดุลของตนเองสำหรับช่วงเวลาต่างๆในอนาคต ว่าเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากจนเกินไปหรือไม่ หากว่าเกิดขึ้น เฟดก็สามารถเลือกที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ช้าลงกว่าที่ได้ตั้งใจไว้ เพื่อทำให้เกิดการชดเชยผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจจากการลดงบดุลไม่ให้มีมากจนเกินไป

ตรงจุดนี้ นางเยลเลนอ่านเกมว่าความคาดหวังของตลาดในประเด็นการลดงบดุลของเฟด ได้ส่ง

ผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีขึ้นไป 0.15% ในปีนี้ เทียบเท่ากับการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 0.25% ถึง 2 ครั้งเลยทีเดียว

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ล่าสุดของการลดงบดุลของเฟด ก่อน Minute จากเฟดในคืนนี้จะปรากฏออกมาครับ