นวัตกรรมหุ่นยนต์ตอบโจทย์อนาคต

นวัตกรรมหุ่นยนต์ตอบโจทย์อนาคต

เห็นคลิปส่งต่อกันใน Social Media ที่โชว์ความสามารถของหุ่นยนต์ทอดไข่เจียว ลีลาท่าทางตั้งแต่การตอกไข่ ใส่ซอส ลงทอด เคาะกะทะ

 ไปจนโยนไข่ลอยฟ้าและรับได้อย่างแม่นยำ ออกมาเป็นไข่เจียวหน้าตาสะสวยดูดี 1 จานนั้น เล่นเอาเรายังอายว่าจะโยนไข่ได้แม่นเท่าเจ้าหุ่นหรือไม่ งานนี้ต้องขอชมผู้คิดค้นที่โชว์ผลงานได้ฮือฮา สมเป็นพระเอกของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทย ส่วนรสชาติไข่เจียวจะอร่อยทัดเทียมที่เราๆ ท่านๆ ทอดเองกันรึปล่าวคงต้องขอตามไปชิมอีกที

นวัตกรรมนี้บอกให้เห็นว่าโลกยุคที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนนั้น คงไม่มีอะไรเกินกว่ามันสมองและความสามารถของมนุษย์ที่จะรังสรรค์สิ่งใหม่เพื่อตอบโจทย์อนาคต พูดง่ายๆก็คือ หุ่นยนต์เจ๋งๆจะเกิดไม่ได้เลยถ้าไม่มีมนุษย์ทำให้เกิด แต่ที่น่าแปลกใจคือนวัตกรรมดีๆ อย่างนี้กลับสร้างความกังวลให้คนบางกลุ่มว่ามันจะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์

จริงอยู่!!แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในจำนวนงานที่มนุษย์ทำอยู่นั้น ยังมีงานที่หนักเกินกำลัง งานที่เสี่ยงอันตราย หรืองานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หุ่นยนต์เหล่านี้จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงเหล่านั้น ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เกิดประโยชน์ในหลายส่วน อาทิ งานเก็บกู้ระเบิดที่ไม่ต้องเอาชีวิตคนเข้าไปเสี่ยง งานในสายการผลิตที่คนงานต้องใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดเป็นระยะเวลานาน งานเช็ดกระจกที่ทำในที่สูงและหาคนงานยาก รวมถึงงานที่ใช้ทักษะต่ำๆ แต่ต้องทำซ้ำในจำนวนมากๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่ดีต่อคุณภาพชีวิตของแรงงาน

งานหลายงานที่คนไทยไม่ทำและต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวเป็นหลักก็มีความเสี่ยง หากยังจำเหตุการณ์ปี 2015 ที่แรงงานกัมพูชานับแสนคนยกขบวนกลับประเทศพร้อมกัน เพราะตื่นตระหนกกับข่าวลือว่าจะถูก คสช. จับกุมและกวาดล้างส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักในกระบวนการผลิต กระทบการดำเนินธุรกิจของคนไทยทันที การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจึงตอบโจทย์ในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับในสายการผลิตอาหาร เป็นที่ทราบกันดีว่ากระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยนั้น ยิ่งลดการสัมผัสมือคนได้มากเท่าไหร่ ย่อมลดการปนเปื้อนได้มากเท่านั้น เนื่องจากคนถือเป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การจะเลือกใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ย่อมต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิต สภาวะแวดล้อมในการใช้ รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้น ข้อความทางไลน์ที่ว่าหุ่นยนต์ทอดไข่เจียวจะมาทดแทนแม่ค้าไข่เจียวหน้าปากซอยนั้น จึงมีความเป็นไปได้เท่ากับศูนย์

เกิดเป็นมนุษย์ที่เก่งกาจมากความสามารถเหนือสัตว์ทั้งปวง เป็นทั้งสัตว์ประเสริฐ เป็นทั้งสัตว์สังคม งานที่ต้องใช้สมอง ใช้ความคิด และงานที่ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วยกัน หรืองานที่ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ล้วนยังจำเป็นต้องอาศัย “มนุษย์” หรือแรงงานคนทั้งสิ้น ฉะนั้นจะกังวลไปใย ตราบเท่าที่เรายังสามารถพัฒนาตนเอง พัฒนาทักษะวิชาชีพเหล่านี้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวไปกับ “หุ่นยนต์” ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์

อันที่จริง ภาคธุรกิจของไทยก็นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้อยู่แล้ว หลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมก่อสร้าง หรือล่าสุดที่กำลังถูกกล่าวถึงกันมาก ก็คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ซีพีเอฟ ธุรกิจอาหารของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ว่ากันว่าเข้าสู่ระบบซีพี 4.0 ไปแล้ว ภายใต้แนวคิด สูง ต่ำ คือเทคโนโลยีสูง ประสิทธิภาพสูง และการลงทุนสูง นำมาสู่ต้นทุนที่ต่ำลงหรือ ไทยเบฟ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ประกาศตัวเข้าสู่ยุค 4.0 ตั้งบริษัทสร้างหุ่นยนต์ตอบสนองธุรกิจผลิตเครื่องดื่มของตน โดยทั้งสองบริษัทล้วนยืนยันตรงกันว่าในโลกยุค 4.0 ระบบการผลิตจำเป็นต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีชั้นสูง โดยมีผู้ช่วยหลักคือหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องในปริมาณมาก พร้อมๆกับการยกระดับทรัพยากรบุคคลในองค์กรให้มีศักยภาพสูงขึ้น

เมื่อประเทศไทยต้องเดินไปข้างหน้าให้สอดคล้องกับวิถีความเป็นไปของโลก การหยุดพัฒนาเทคโนโลยีย่อมเท่ากับถอยหลังเข้าคลอง ... คนไทยจึงควรเปิดรับนวัตกรรมที่จะช่วยตอบโจทย์อนาคตของประเทศ แล้วเร่งพัฒนาทักษะความสามารถของตนและเด็กรุ่นหลังให้พร้อมรับThailand 4.0 ที่กำลังจะมาถึง... ดีกว่าการนั่งตีอกชกตัวแล้วโวยวายว่าจะถูกหุ่นยนต์แย่งงาน

.......................

มณวลัญช์ ธาตุธรรม