สองนครสาธารณสุขไทย (2) :

สองนครสาธารณสุขไทย (2) :

ช้าง แม้จะใหญ่โตดูอุ้ยอ้าย... แต่ช้างก็เต้นระบำได้เหมือนกัน

ตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ จนกระทั่งมาทำงานและสอนหนังสือเกือบสามสิบปี เรื่องหนึ่งที่สอนคือเรื่องบทบาทหน้าที่ของรัฐในการพัฒนาประเทศ

ทุกประเทศในโลก ไม่ว่าจะมีระบอบการปกครองแบบไหนก็เหมือนกัน คืออยู่บนพื้นฐานหลักการว่า กิจการใดที่องค์กรที่มีอยู่หรือภาคเอกชนไม่มีความสามารถที่จะดำเนินการได้ รัฐก็จำเป็นต้องเข้าดำเนินการ

โครงการแบบนี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการพื้นฐานที่เรียกว่า infrastructure ของประเทศ จะเกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภคหรือระบบเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ เอกชนทำไม่ได้ และมีความเสี่ยงสูง

โดยหลักการแล้ว รัฐจะเข้าดำเนินการแม้จะมีรายได้น้อยกว่าต้นทุน เพราะเป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับประเทศ เรียกว่าเป็นการลงทุน (investment) และไม่เรียกค่าใช้จ่าย (cost) รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงถ้าเอกชนหรือองค์กรที่มีอยู่ทำได้ดีอยู่แล้ว หรือถ้าทำอยู่ แล้วต่อมามีองค์กรเกิดใหม่หรือเอกชนที่มีศักยภาพมาทำแทน โดยมีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากกว่า มีผลิตภาพมากกว่า รัฐก็ต้องถอยออก เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดความซ้ำซ้อนและสูญเปล่า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆคือระบบโทรคมนาคม ที่เรามีองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท) การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท) ปัจจุบันเกือบหมดสภาพเพราะไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับภาคเอกชน ความอิหลักอิเหลื่อของรัฐที่จะยุบก็ไม่ยุบ จะรวมสององค์กรก็ไม่รวม ในที่สุดองค์กรทั้งสองก็อ่อนแอลงไปเรื่อยๆ และกลายเป็นประเด็นทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

เช่นเดียวกันที่กำลังเกิดในระบบสาธารณสุขบ้านเรา มีหลายกระทรวงที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ทำ กระทรวงแรงงานก็ทำ กระทรวงมหาดไทยก็ทำ มากไปกว่านั้น งานของ กระทรวงสาธารณสุข ก็ถูกเอาไปให้หน่วยงานใหม่ที่เป็นองค์การอิสระไปทำ ไม่ว่า สปสช. สสส. สวรส. ทั้งๆที่มีการทำวิจัยโดยหลายหน่วยงานทั้งภายในกระทรวงสาธารณสุขและนอกกระทรวง เช่น สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ( สช.) และมหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ทำงานวิชาการและงานวิจัยเกี่ยวกับระบบสุขภาพ ซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้วมีความต่อเนื่องยาวนานมานับร้อยปีตั้งแต่ตั้งกระทรวงสาธารณสุข หลายกรมในกระทรวงสาธารณสุขทำงานค้นคว้า วิจัย ทั้งการรักษาพยาบาล ทั้งเชิงป้องกัน ทั้งงานชุมชน มีหมดแล้ว

ถ้าหากงานของหน่วยงานหลักไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงองค์กร

ช้างนั้น แม้จะใหญ่โต ดูอุ้ยอ้าย แต่ช้างก็เต้นระบำได้เหมือนกัน

หน่วยงานของรัฐที่ก่อตั้งมานับร้อยปี จึงเป็นสิ่งที่แก้ไขปรับปรุงได้

อยากให้รัฐหันมาให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้มากสักหน่อย เพราะการแก้ไขปรับปรุงองค์กรเป็นเรื่องปกติ การตั้งองค์กรใหม่เพื่อให้มาเป็นคู่ต่อสู้ แข่งขันกันนั้น ไม่ใช่เรื่องที่รัฐพึงกระทำ แต่เป็นเรื่องของภาคธุรกิจเอกชนเพื่อให้เกิดการแข่งขันและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค

หน่วยงานของรัฐจะต้องเป็นแกนของรัฐบาล ในการเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกวิกฤตและโอกาส รัฐไม่ควรแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดกับองค์กรหนึ่ง โดยไปตั้งองค์กรใหม่มาแข่งขัน เพราะนี่ไม่ใช่การแข่งขันทางธุรกิจ แต่เป็นการทำลายภารกิจขององค์กรเดิมที่ไม่มีใครได้ประโยชน์ทั้งหมด มีแต่เสียหายด้วยกัน

โดยเฉพาะประชาชนผู้เสียภาษี ที่ไม่ได้อะไรจากการแข่งขันที่ซ้ำซ้อน ทับซ้อนเลย