ถึงจะโหล่ แต่ก็หล่อ

ถึงจะโหล่ แต่ก็หล่อ

ถึงจะโหล่ แต่ก็หล่อ

ปี 2560 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่หาผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนสไตล์ Momentum ในตลาด side-way โดย 5 เดือนที่ผ่านมา SET Index แกว่งตัวบวกลบเพียง 4% (1,530-1,590 จุด) ทำเอารายย่อยหลายๆ คนเบื่อหน่ายหายไปจากตลาด วอลุ่มการเทรดของนักลงทุนรายย่อยตั้งแต่ต้นปีมีการซื้อและขายรวมทั้งสิ้น 3.9 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อนหน้าราว 6%

ค่อนข้างแตกต่างจากนักลงทุนต่างชาติ และสถาบันภายในประเทศ ซึ่งอาจมองตลาดหุ้นไทยไม่ได้แย่อย่างที่หลายคนคิด โดยทั้งคู่ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นไทยและมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 21% และ 15% ตามลำดับ

ผลคือราคาหุ้นขนาดใหญ่ปรับขึ้นชนะหุ้นขนาดเล็ก โดย SET50 Index ปรับตัวขึ้น 2.3% year-to-date (YTD) ชนะ SET Index ที่ขึ้นเพียง +1.0% YTD (ไม่นับเงินปันผล) ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนักที่หุ้นขนาดใหญ่จะชนะหุ้นขนาดเล็ก ถ้าเอาตามสถิติใน 10 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 3 ปีเท่านั้น (รวมปีนี้) ที่ SET50 ให้ผลตอบแทนสูงกว่า SET Index (คิด Mid-May YTD) คำถามที่เกิดขึ้น ก็คือ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ประการแรก ตลาดหุ้นไทยโดยรวมมี valuation ค่อนข้างสูง หากมองในแง่ Forward PE ratio ของไทยอยู่ที่ราว 14.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี อยู่ราว 1 SD (หนึ่งเท่าของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) ซึ่งอาจมองได้ว่าราคาหุ้นไม่ได้ถูกนัก โดยหลักๆ เกิดจากหุ้นขนาดกลางถึงเล็กจำนวนมากที่มีค่า PE อยู่ในระดับ 30-50 เท่า (นับว่าแพงมาก คิดคร่าวๆว่าบริษัทต้องทำกำไรเท่ากับปีล่าสุดไปอีก 30-50 ปี กว่านักลงทุนจะได้ต้นทุนคืน หรือมิเช่นนั้น PE ระดับดังกล่าวก็บ่งบอกถึงว่านักลงทุนมีความคาดหวังสูงมาก ว่าบริษัทเหล่านี้จะมีผลประกอบการดีขึ้นหลายเท่าตัวในอีก 1-2 ปีข้างหน้า) ซึ่งบริษัทที่มี PE สูงมากเหล่านั้นมักเป็นที่นิยมของนักลงทุนรายย่อยและย่อมถูกขายออกมาในเวลาที่รายย่อยขาดความเชื่อมั่นหรือผลประกอบการออกมาดีไม่พอกับความคาดหวังอันสูงลิบ

ประการที่สอง นักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนสถาบัน ที่มักเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่มากกว่าหุ้นที่มีความหวือหวา และมักมองตลาดในเชิงเปรียบเทียบ (เช่นเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค) โดยแม้ว่าหุ้นไทยจะดูแพงเมื่อเทียบกับตัวเองในอดีต แต่อาจไม่ได้แพงนักเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน และเมื่อนักลงทุนเหล่านั้นจัดสรรเงินมาลงในตลาดหุ้นไทย ก็มักให้น้ำหนักการลงทุนตามมูลค่าตลาด คือหุ้นขนาดใหญ่มีสภาพคล่องสูงก็มักได้รับเม็ดเงินลงทุนสูงกว่าหุ้นขนาดเล็ก (นักลงทุนสถาบันและต่างประเทศ มีเม็ดเงินขนาดใหญ่ จึงกลัวติดหุ้นที่ไม่มีสภาพคล่อง ต้องเน้นหุ้นใหญ่ สภาพคล่องสูงเป็นหลัก)

หากเทียบกับเพื่อนบ้านอีก 7 ประเทศ แม้ตลาดหุ้นไทยปีนี้ให้ผลตอบแทนต่ำในระดับโหล่สุด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเพียง 1%YTD เทียบกับเพื่อนบ้านแล้วแพ้อย่างชนิดไม่เห็นฝุ่นโดยตลาดหุ้นมาเลเซียกับไต้หวัน (+7-8%YTD) อินโดนีเซียกับจีน (+9-10%YTD) ส่วนสายแข็งอย่าง เกาหลี อินเดีย และ ฟิลิปปินส์ ก็บวกกันราวๆ 13-14%YTD เข้าไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความหล่อ หรือความถูก-แพง ตลาดหุ้นไทยก็นับว่าหล่อใช้ได้ โดยมีค่า PE ถูกเป็นอันดับ 4 ใน 8 ประเทศ (ดังกล่าวข้างต้น) และเมื่อเปรียบเทียบด้วย PE to Growth ratio (PEG) ซึ่งเอาค่า PE มาหารด้วยอัตราการเติบโตในอนาคต พบว่าตลาดหุ้นไทยที่มี PEG 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านตามกราฟที่แนบมานี้ โอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นอีก 10% จากจุดนี้ก็ไม่น่าจะยากนัก ดังนั้นเป้าหมาย SET Index target ของเราที่ 1,700 จุดก็ไม่น่าจะไกลเกินเอื้อม ทำให้การย่อตัวของหุ้นในช่วงนี้ นอกจากเป็นโอกาสในการลงทุนระยะยาวอย่าง LTF RMF ยังเหมาะกับการสะสมหุ้นพื้นฐานที่ไม่หวือหวา ไม่วาดฝัน และ PE ไม่สูงจนโอเว่อร์ ซึ่งเรายังคงชอบหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว อิเล็กทรอนิกส์ และอาหาร ที่มีแนวโน้มเติบโตไปกับ theme การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย