อยู่กับความผันแปร

อยู่กับความผันแปร

อย่าปล่อยให้อุปสรรคเป็นตัวแปรที่ทำให้งานของเราต้องล้มเหลว

โลกธุรกิจทุกวันนี้มีความย้อนแย้ง ทำให้คนรุ่นใหม่อึดอัดใจอยู่ไม่น้อย เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจฉับไวถึงขนาดที่ทำให้ธุรกิจใหม่ประสบความสำเร็จได้เพียงชั่วข้ามคืนแต่อีกมุมหนึ่งก็มีบางธุรกิจ ที่ล่มสลายในชั่วข้ามคืนเช่นกัน เมื่อได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปิดตัวแทบจะทุกวินาที

การอยู่ในสังคมที่มีพลวัตรสูงเช่นนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการสร้างภูมิคุ้มกันจากภายในตัวของเราเอง ที่ทำให้เราไม่หวั่นไหวไปกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมถึงอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้อย่างผสมกลมกลืน ซึ่งมีเคล็ดลับอยู่เพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น

ข้อแรกต้องมีความสุขในสิ่งที่ทำอยู่ หากเราใช้ชีวิตร่วมกับหน้าที่การงานที่เราชอบ ย่อมทำให้เรากระหายเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเองตลอดเวลา ไม่ใช่การบ่นกับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาซึ่งไม่มีวันที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้เลย

การทำในสิ่งที่รักและเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ จะทำให้เราไม่เบื่อที่ต้องเจอเรื่องใหม่ๆ และมีความสนุกที่จะก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคต่างๆ การจมอยู่กับงานที่ตัวเองไม่ชอบจึงให้ความรู้สึกตรงกันข้าม การเลือกงานที่ชอบและงานที่เรามีใจรักจึงมีความสำคัญเป็นลำดับแรกเสมอ

ข้อ 2 งานทุกอย่าง ทุกประเภท และการทำงานในทุกตำแหน่งย่อมหนีอุปสรรคและปัญหาไปไม่พ้น อย่าปล่อยให้อุปสรรคเป็นตัวแปรที่ทำให้งานของเราต้องล้มเหลว เพราะเมื่อใดที่เรามองอุปสรรคเหล่านั้นเป็นปัญหาเราจะถอย และหาทางหลีกเลี่ยงมันโดยไม่ตั้งใจ

แต่ทางตรงกันข้ามหากเราเห็นอุปสรรคเหล่านั้น เป็นโอกาสที่จะได้พิสูจน์ฝีมือและได้ท้าทายตัวเองให้เติบโตไปสู่ความสำเร็จในระดับที่สูงขึ้น เราจะกล้าเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้นและจัดการกับมันอย่างเต็มความสามารถ เพราะรู้ว่าอุปสรรคเหล่านั้นเป็นของคู่กับคนเก่งและมีความสำเร็จรออยู่ข้างหน้า

ข้อ 3 ต้องรู้จักเสนอตัวเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานใหม่ๆ ที่บริษัทต้องการหาคนรับผิดชอบ หรือตำแหน่งใหม่ที่ต้องการอาสาสมัครมาช่วยทำ เพราะบ่อยครั้งที่ในห้องประชุมต้องเงียบกริบ หรือไม่ก็มีแต่คนหันซ้ายหันขวาเมื่อต้องการหาคนในลักษณะดังกล่างเพราะไม่มีใครอยากรับผิดชอบงานเพิ่ม

หากบรรยากาศที่ประชุมเป็นแบบนั้นเสมอ ก็สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทนั้นคงเดินหน้าหาความสำเร็จได้ไม่ง่ายนัก เพราะไม่มีใครอาสาท้าทายความสำเร็จใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึง ตรงกันข้ามกับบริษัทที่มีแต่คนอาสาเสนอตัวทำสิ่งใหม่ๆ ย่อมมีทีมงานที่พร้อมปรับตัวสู่เป้าหมายใหม่เสมอ

ข้อ 4 อย่าให้การทำงานต้องอะลุ่มอล่วยไปตามเสียงส่วนใหญ่ทั้งหมด เพราะเมื่อใดก็ตามบรรยากาศในที่ประชุมเห็นคล้อยตามกันไปเสียทั้งหมด นั่นหมายความว่าไม่มีใครกล้าเสนอความเห็นที่แตกต่างซึ่งอาจมีความหมายแม้เพียงเล็กน้อยกับงานของเรา

บ่อยครั้งที่การประชุมเป็นไปด้วยความเกรงอกเกรงใจ และไม่กล้าพูดขัดผู้อาวุโสในที่ประชุม ส่งผลให้การตัดสินใจในเรื่องสำคัญบางเรื่องเป็นไปอย่างรวบรัด และตัดสินใจไปตามความเห็นของผู้ใหญ่แต่เพียงอย่างเดียว

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อาจมีบางคนในห้องที่มีประสบการณ์ตรง หรือบางคนที่เคยทำผิดพลาดมาก่อนจึงสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับทีมงานได้ การเห็นคล้อยตามกันไปทั้งหมด จึงอาจเป็นความอันตรายที่ทุกคนมองข้ามความเห็นต่าง

ยังเหลืออีกหลายข้อที่ต้องขอยกไปไว้ใน “Think out of The Box” ฉบับวันอังคารหน้านะครับ