เริ่มธุรกิจในสไตล์ Lean Startup

เริ่มธุรกิจในสไตล์ Lean Startup

คอลัมน์ในสัปดาห์นี้จำเป็นที่จะต้องใช้หัวข้อเป็นภาษาอังกฤษก็เนื่องมาจากยังไม่มีภาษาไทยที่นำมาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบในการเริ่มต้นธุรกิจ

ด้วยวิธีการที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรและกำลังคนอย่างไม่จำเป็น

โดยเฉพาะในการเริ่มต้นสร้างธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ ที่ต้องการการเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจอย่างรวดเร็วด้วยการใช้สูตรสำเร็จ ที่สามารถนำไปใช้ขยายผลทางธุรกิจได้ซ้ำๆ กัน ในตลาดหรือในสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่แตกต่างกัน

คำว่า “Lean” ถูกนำมาใช้ในที่นี้เพื่อแสดงถึงความกระชับ คล่องตัว ไม่อุ้ยอ้าย หรือมี “ไขมัน” ที่เป็นส่วนเกินมากจนเกินไปในระหว่างกระบวนการผลักดันไอเดียธุรกิจของสตาร์ทอัพ ให้ออกมาเป็นธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีเปอร์เซ็นต์ของความสำเร็จสูง

เนื่องจากโดยธรรมชาติของการสร้างธุรกิจใหม่แล้ว ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจมักจะประสบกับความล้มเหลวได้โดยง่าย ส่วนใหญ่จะเกิดจากเหตุผลที่ว่า ไอเดียธุรกิจที่คิดว่าเจ๋งแน่ เมื่อทำออกมาเป็นธุรกิจแล้วไม่ได้รับการยอมรับจากตลาด

มีผู้เปรียบเทียบให้ฟังว่า สตาร์ทอัพ กับ ผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ มักจะมีสไตล์และวิธีการในการทำงานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการยอมรับและการจัดการกับความเสี่ยงที่ธุรกิจใหม่จะไม่ไปโลดเหมือนกับที่เจ้าของไอเดียคิดฝันไว้

เช่นเดียวกับในเรื่องความรวดเร็วและการย่นระยะเวลาในการนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดให้ได้โดยใช้เวลาสั้นที่สุด

ดังนั้น วิธีปฏิบัติในการสร้างธุรกิจแบบเดิม ที่เริ่มจากการศึกษาตลาดและการเขียนแผนธุรกิจให้รัดกุมและครอบคลุมกิจกรรมทางธุรกิจให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ การตลาด การผลิต การบริหารจัดการ กำลังคน และแผนการเงิน เป็นสิ่งที่แนวคิดของ Lean Startup เห็นว่าเป็นเรื่องของความอุ้ยอ้ายและสิ้นเปลืองเวลาไปโดยใช่เหตุ

ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าในหลายๆ ครั้ง แผนที่เสียเวลาจัดทำขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการคาดการณ์ในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น และตัวแผนเอง ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะช่วยยืนยันได้ว่า อนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จะต้องเป็นไปตามแผนที่เขียนขึ้นมา

วิธีการของ Lean Startup จะเริ่มต้นด้วยการใช้โมเดลธุรกิจแบบย่อ ที่จะทำให้เห็นเค้าโครงของธุรกิจที่จะทำว่าจะนำเสนอคุณค่าจากสิ่งแปลกใหม่ให้ตลาดได้รับรู้อย่างไร และจะแปลงความแปลกใหม่ที่นำเสนอนั้นกลับมาเป็นเงินหรือรายได้ให้กับธุรกิจได้อย่างไร แทนการใช้เวลานับเดือนหรือหลายเดือนเพื่อเขียนแผนธุรกิจให้เป็นรูปเล่มเพื่อใช้ประกอบในการนำเสนอให้กับผู้สนใจที่ต้องการจะมาเข้าร่วมลงทุนสร้างธุรกิจ

ปรัชญาของ Lean Startup จึงอยู่ที่การพยายามทดสอบว่า โมเดลธุรกิจที่นำเสนอนั้น จะมีโอกาสที่จะเป็นไปได้จริงมากน้อยเพียงใดในปัจจุบัน แทนการพยายามฉายภาพการคาดการณ์อนาคตข้างหน้า 3 – 5 ปี ว่าธุรกิจจะโตไปอย่างไร ซึ่งไม่มีใครจะการันตีได้

หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่า สตาร์อัพที่คิดแบบลีน จะใช้เวลาในระยะเริ่มต้นของธุรกิจเพื่อทดสอบไอเดียของตนว่าจะมีจุดอ่อนช่องโหว่ที่ไหน และจะพยายามแก้ไขจุดอ่อนหรืออุดช่องโหว่นั้นให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด

ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด ก็คือ การออกไปพบปะพูดคุย นำเสนอตัวอย่าง หรือเล่าไอเดียที่คิดไว้ให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในทันทีที่พร้อม แล้วนำข้อติชมนั้นๆ มาปรับแก้กับสินค้าหรือบริการในรุ่นถัดไปทันที ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะต้องทิ้งไอเดียเดิมไปทั้งหมดและพลิกสถานการณ์ไปสู่สิ่งที่จะตอบโจทย์ลูกค้าให้ตรงมากขึ้น ก็เป็นได้

และสตาร์ทอัพตัวจริง ต้องไม่ลังเลที่จะทำเช่นนั้น

โดยยึดแนวคิดที่ว่า นวัตกรรมที่จะนำเสนอนั้น ต้องตรงกับความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าหรือผู้ใช้งาน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจคิดว่าดี จากมุมมองของตนเองในด้านเดียว

หากเป็นไปได้ เพื่อให้กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ไม่ให้ต้องเสียเวลาและให้ความสำคัญไปกับองค์ประกอบหรือฟังชั่นการทำงานที่ลูกค้าไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดระยะเวลาการออกสู่ตลาดให้สั้นที่สุด เพื่อเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นต่อไปให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างต่อเนื่อง

และจะเป็นการดีอย่างยิ่ง หากสตาร์อัพ สามารถมีโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมไปกับลูกค้าเป้าหมายที่สำคัญ เนื่องจากจะเป็นวิธีการที่สั้นที่สุดที่จะได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง

กล่าวโดยสรุป Lean Startup เป็นแนวทางที่ใช้การบุกเบิกธุรกิจด้วยวิธีการทดสอบตลาดควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยโดยตรงกับลูกค้า หรือใช้วิธีร่วมพัฒนาต้นแบบไปกับลูกค้าเสียเลย

จะช่วยให้สามารถตัดความฟุ่มเฟือยที่จะใส่ลงไปในตัวสินค้าออกไป ให้เหลือเพียงสิ่งที่ลูกค้าต้องการจริงๆ เท่านั้น

ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า Lean Startup นั่นเอง!!!!