การก่อตัวของประเพณีการปกครองของอังกฤษ :

การก่อตัวของประเพณีการปกครองของอังกฤษ :

ว่าด้วยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ปี ค.ศ.1788 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่สามแห่งอังกฤษทรงพระประชวร ไม่ทรงสามารถแสดงพระราชประสงค์ (the royal will) ผ่านพระราชหัตถเลขาได้ ขณะเดียวกันนั้น รัฐสภาอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุม ตามประเพณีการปกครอง องค์พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้ทรงกำหนดการเปิดสมัยประชุมและจะทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีและทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา 

หากปราศจากซึ่งรัฐพิธีดังกล่าวนี้ รัฐสภาจะไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใดๆต่อไปได้ อีกทั้งในในกรณีที่มีร่างกฎหมายที่ผ่านสภาทั้งสองสภาแล้ว ก็จะต้องขอพระบรมราชานุญาต (royal assent) เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติ และพระบรมราชานุญาตดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นพระปรมาภิไธยที่เป็นลายพระหัตถ์ขององค์พระมหากษัตริย์พร้อมพระราชลัญจกรใหญ่ 

อังกฤษในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้สถาบันหรือองค์ใดแต่งตั้งตัวแทน พูดง่ายๆก็คือยังไม่ได้กำหนดการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ไว้ หากจะให้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็จะต้องมีการร่างและออกกฎหมายขึ้นมาใหม่ แต่ในการจะออกกฎหมายใดๆที่จะบังคับใช้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตและพระบรมราชานุญาต ก็จะต้องเป็นพระปรมาภิไธยที่เป็นลายพระหัตถ์ขององค์พระมหากษัตริย์ดังที่กล่าวไป 

ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1788 จึงดูจะเป็นสภาวการณ์ที่ตกหลุมติดหล่มเป็นวังวนทางตันในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีดังกล่าว นายวิลเลียม พิท นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้คิดแผนแก้ปัญหาโดยเสนอให้มีการมอบอำนาจให้หัวหน้าฝ่ายตุลาการ (Lord Chancellor) สามารถประทับตราพระราชลัญจกรใหญ่ได้ ข้อเสนอดังกล่าวนี้ที่เป็นทางออกจากวิกฤตนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองสภาเสียก่อน และเมื่อหัวหน้าฝ่ายตุลาการได้รับมอบอำนาจนี้จากความเห็นชอบของทั้งสองสภาแล้ว ก็จะเป็นผู้ประทับตราพระราชลัญฉกรใหญ่ในพระบรมราชโองการกำหนดการประชุมและเปิดประชุมรัฐสภา และประทับตราพระราชลัญฉกรใหญ่ในพระบรมราชานุญาตต่อร่าง พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันทีที่ผ่านรัฐสภาแล้ว เพื่อที่จะได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่สาม

เห็นได้ว่า วิธีการที่วิลเลียม พิทคิดขึ้นมานี้คือ หัวหน้าฝ่ายบริหารริเริ่มแผนการโดยให้รัฐสภาสามารถใช้อำนาจรัฐสภามอบอำนาจให้หัวหน้าฝ่ายตุลาการใช้อำนาจแทนพระราชอำนาจในการกำหนดการประชุม-เปิดประชุมรัฐสภาและอนุมัติร่างกฎหมายได้ แผนการการแก้ทางตันนี้ได้รับการยอมรับในหลักการและนำไปปฏิบัติ และเมื่อผ่านขั้นความเห็นชอบของสภาสามัญแล้ว ในขณะที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาขุนนางหรือสภาสูง ปรากฏว่าสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่สามทรงพระอาการดีขึ้นและทรงสามารถบริหารพระราชภารกิจได้แผนการที่จะให้รัฐสภาจะใช้อำนาจแทนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป และก็ถือว่าเป็นโชคดีของการเมืองอังกฤษในขณะนั้นที่ไม่ต้องใช้วิธีการดังกล่าว 

เพราะการหาทางออกของทางตันโดยให้รัฐสภาสามารถใช้อำนาจแทนพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ อาจจะนำไปสู่วิกฤตความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญได้ แม้วิกฤตความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในเงื่อนไขที่แตกต่างไปได้

แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น อังกฤษก็กลับไม่คิดรีบออก พ... ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะสามารถครอบคลุมเงื่อนไขต่างๆที่พระมหากษัตริย์จะทรงบริหารพระราชภารกิจไม่ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาทางตันแบบนี้อีก ต่อมาปี ค.ศ. 1810พระองค์ทรงประชวรอีก และรัฐสภาก็อยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมอีกเช่นกัน วิธีการแก้ปัญหาที่วิลเลียม พิทคิดไว้ก็ถูกนำมาปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การเปิดประชุมสภาและการผ่าน พ.ร.บ. ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งคราวนี้ทุกอย่างดำเนินไปตามแผนการดังกล่าว และมีการแต่งตั้งเจ้าชายแห่งเวลส์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่สามได้ทรงบริหารพระราชภารกิจแทนพระองค์เป็นเวลาถึง 10 ปีจนสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่สามทรงเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.1820 

 ปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นในอังกฤษอีกในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่สาม โดยในปี ค.ศ.1928 เมื่อสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าทรงพระประชวร ทำให้ต้องมีการกราบบังคมทูลเชิญเจ้าชายแห่งเวลส์ที่ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่ซาฟารี อัฟริกาให้รีบเสด็จกลับอังกฤษหากสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าจะทรงเสด็จสวรรคต และในขณะที่เจ้าชายแห่งเวลส์ยังทรงเสด็จกลับไม่ถึงอังกฤษ คณะองคมนตรี (Privy Counsellors) ได้ประชุมกันบริเวณหน้าห้องบรรทม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับในกรณีที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าจะทรงมีพระราชโองการแต่งตั้ง “สภาสำเร็จราชการแผ่นดิน” (Counsellors of State) ให้บริหารพระราชภารกิจแทนพระองค์ 

แต่ที่สุดแล้ว กระบวนการดังกล่าวนี้ก็มิได้ดำเนินไปถึงที่สุด เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าทรงพระอาการดีขึ้น ต่อมาปี ค.ศ.1936 พระองค์ทรงพระประชวรอีก และได้มีการเตรียมที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กล่าวไปข้างต้น และแพทย์หลวงได้ถวายความช่วยเหลือด้วยการประคองพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยในการแต่งตั้งสภาสำเร็จราชการแผ่นดินขึ้น ก่อนหน้าเหตุการณ์ในปี ค.ศ.1936 เคยมีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาแล้วในปี ค.ศ.1911 นั่นคือ ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าจะทรงเสด็จเยือนอินเดีย พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์จะมิทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร และจากกรณีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในปี ค.ศ.1911  นี้เองจึงเป็นที่มาของแบบแผนปฏิบัติในเวลาต่อมา 

นั่นคือ ในปี ค.ศ. 1925 สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ห้าทรงมีความจำเป็นด้านสุขภาพที่ต้องเสด็จล่องเรือในทะเลเมดิเตอเรเนียนตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ทรงมีพระพลานามัยดีขึ้น การที่มิได้ทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักร พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ ต่อมาในกรณีที่ทรงพระประชวรในปี ค.ศ. 1928 และ 1936 ดังที่ได้กล่าวไป อังกฤษเริ่มมีความชัดเจนในแบบแผนประเพณีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนองค์พระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มิทรงประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือทรงพระประชวร พระมหากษัตริย์อังกฤษทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแผ่นดินให้ปฏิบัติพระราชภารกิจแทนพระองค์ได้ 

ดังเห็นได้จากกรณีที่กล่าวไป นั่นคือ ค.ศ.1911 (มิได้ทรงประทับในราชอาณาจักร) ค.ศ.1925 (มิได้ทรงประทับในราชอาณาจักร) ค.ศ.1928 (ทรงพระประชวร) และ ค.ศ.1936 (ทรงพระประชวร) แต่แบบแผนข้างต้นก็ยังไม่ครอบคลุมในกรณีที่พระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์อยู่ !