ก้าวจาก SME สตาร์ทอัพ 3.0 สู่ เทคสตาร์ทอัพ 4.0

ก้าวจาก SME สตาร์ทอัพ 3.0 สู่ เทคสตาร์ทอัพ 4.0

สตาร์ทอัพเป็นธุรกิจใหม่ที่เริ่มจะอยู่ในความสนใจ ของสาธารณชนมาตั้งแต่ปีก่อน โดยหากพิจารณาจากดัชนี Google Trends

 แนวโน้มการค้นหา “สตาร์ทอัพ” ในปี 2016 ขยายตัวสูงเกือบถึงสามเท่าจากปีก่อนหน้า และยังคงขยายตัวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดัชนีดังกล่าวนอกจากสะท้อนกระแสนิยมของผู้คนในโลกออนไลน์แล้ว ยังบ่งชี้ได้ว่าผู้คนต้องการที่จะรู้จักและเข้าใจสตาร์ทอัพมากขึ้น จากเดิมซึ่งไม่คุ้นเคยกับสตาร์ทอัพมากนัก

สตาร์ทอัพ (Startup) คืออะไร?

หากแปลความกว้างๆ ตามตัวอักษร สตาร์ทอัพ (Startup) คือบริษัทเกิดใหม่ หน้าตาคล้ายกับ SMEs ซึ่งมักจะเป็นแหล่งคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนั้น บริษัทเกิดใหม่ยังมีความสำคัญต่อตลาดแรงงานช่วยสร้างตำแหน่งงาน รวมถึงสร้างทางเลือกที่หลากหลายให้กับแรงงาน แต่ที่สำคัญคือจากงานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าบริษัทเกิดใหม่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้เศรษฐกิจเติบโต เนื่องจากผลิตภาพของแรงงานจะเติบโตสูงที่สุดในบริษัทช่วงเกิดใหม่และจะโตช้าลงจนหยุดโตเมื่อบริษัทมีอายุมากกว่าสิบปี หรือมองมุมกลับอาจกล่าวได้ว่าประเทศจะไม่โตขึ้นเลยหากไม่มีบริษัทเกิดใหม่สักสิบปีเมื่อสมมติให้กำลังแรงงานเท่าเดิม ในความเป็นจริงแม้ว่าสหรัฐฯ ยังมีบริษัทเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่การที่บริษัทเกิดใหม่น้อยลงเป็นหนึ่งในสาเหตุให้เศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา

การเติบโตของสตาร์ทอัพในไทย

ในประเทศไทย แนวโน้มของจำนวนบริษัท SMEs เกิดใหม่ยังเติบโตได้ต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยปีละ 7.3% จาก 26,645 บริษัท ในปี 2009 เป็น 41,069 บริษัท ในปี 2013 และแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2014 แต่ธุรกิจ SMEs เกิดใหม่ยังสูงถึง 36,864 บริษัท นอกจากนั้น หากเทียบกับบริษัททั้งหมด ในระหว่างปี 2009-2014 บริษัท SMEs เกิดใหม่มีสัดส่วนโดยเฉลี่ยสูงถึง 9% ของจำนวนบริษัททั้งหมด

จากข้อมูลล่าสุดของ Business Online (BoL) ตามภาพ บริษัทเกิดใหม่ SMEs มีโครงสร้างแตกต่างจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยประมาณหนึ่งในสามของบริษัทเกิดใหม่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจการค้าถึง 33% ของ SME ที่จดทะเบียนใหม่ทั้งหมดในปี 2014 ขณะที่สัดส่วนของสาขาการค้าในโครงสร้างการผลิตของเศรษฐกิจไทยมีขนาดเพียง 14% ของ GDP รองลงมาเป็นอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ 23% ธุรกิจก่อสร้าง 14% ขณะที่มีบริษัทเกิดใหม่ SMEs เพียง 11% อยู่ในธุรกิจอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสาขาที่มีสัดส่วนสูงสุดใน GDP (29%)

โครงสร้างที่แตกต่างกันระหว่างเศรษฐกิจและบริษัทเกิดใหม่ สามารถอธิบายได้ด้วยระดับอุปสรรคของการเข้าสู่ตลาด กรณีของธุรกิจการค้าบริษัทเกิดใหม่ SMEs เข้าสู่ตลาดได้ไม่ยาก รายเล็กๆ อาจจะแค่ซื้อมาขายไปไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก ทำให้ทุกๆ ปีหนึ่งในสามของบริษัทเกิดใหม่เข้าไปสู่ธุรกิจการค้า นอกจากนั้น โครงสร้างที่แตกต่างกันดังกล่าวอาจจะสะท้อนโอกาสหรือช่องว่างที่มีอยู่ในตลาด ส่วนกรณีธุรกิจอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่แต่ศักยภาพใกล้จะเต็มแล้ว ประกอบกับการจะเข้าไปดำเนินธุรกิจในสาขานี้ใช้เงินทุนสูง บริษัทจึงเกิดใหม่ได้ไม่มากนัก

สิ่งที่น่าสนใจคือหากเรามองจากข้อมูลบริษัทเกิดใหม่ SMEs ใน Business Online อาจกล่าวได้ว่าโครงสร้างการผลิตของไทยค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ยุคบริการแล้ว เมื่อพิจารณาจากภาคบริการที่มีขนาด 57% ของ GDP แต่บริษัทเกิดใหม่ถึง 87% มีเป้าหมายเข้าไปดำเนินธุรกิจในภาคนี้ สะท้อนว่ายังมีโอกาสทางธุรกิจในภาคบริการอยู่อีกมาก โดยในส่วนนี้ 2 ใน 3 ของบริษัทเกิดใหม่ในภาคบริการอยู่ในธุรกิจบริการรูปแบบดั้งเดิม (Traditional Service) เช่น การค้า และการโรงแรม ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของภาคบริการในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงโครงสร้างหลักของภาคบริการจะเป็นธุรกิจบริการรูปแบบสมัยใหม่ (Modern Service) ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ในทางเศรษฐกิจมากกว่า เช่น โทรคมนาคมและสื่อสารสนเทศ อสังหาริมทรัพย์ บริการทางธุรกิจ และการเงิน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ เพียง 1ใน 3 ของบริษัทเกิดใหม่ในภาคบริการในไทยเป็นธุรกิจบริการรูปแบบสมัยใหม่

เปรียบเทียบเทคสตาร์ทอัพไทยกับต่างประเทศ

โครงสร้างบริษัทเกิดใหม่ในประเทศพัฒนาแล้วอาศัยเทคโนโลยีอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ในปี 2012 มากกว่า 75% ของบริษัทเกิดใหม่ในออสเตรเลียอยู่ในสาขาสื่อสารสนเทศและโทรคมนาคม ประกอบด้วยหมวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และหมวดบริการสารสนเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ การกระจุกตัวของบริษัทเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัพในสาขาที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้บ่อยครั้งการกล่าวถึงสตาร์ทอัพเป็นการเจาะจงว่าเป็นบริษัทในหมวดดังกล่าว นอกจากนั้น สตาร์ทอัพในหมวดดังกล่าวยังสามารถระบุให้ชัดเจนได้ด้วยการขยายนามเป็น “เทคสตาร์ทอัพ (Tech Startup)”

โดยทั่วไป การจะเป็นบริษัทเกิดใหม่แบบเทคสตาร์ทอัพได้นั้น บริษัทจะมีลักษณะเด่นดังนี้ (1) มีวิธีแก้ไขปัญหา (Solution) หรือบริการใหม่ๆ ให้กับลูกค้า (2) วิธีดังกล่าวถูกออกแบบมาให้ลูกค้าใช้ซ้ำได้อย่างไม่จำกัด และ (3) ธุรกรรมจากข้อ (2) จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และด้วยองค์ประกอบเหล่านี้โดยเฉพาะข้อ (2) การกล่าวถึงเทคสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ ในสหรัฐจะชี้ชัดไปเลยว่าเป็นบริษัทที่มีซอฟท์แวร์เป็นพื้นฐานของผลผลิต เช่น เว็บไซต์ โปรแกรมโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น เนื่องจากการออกแบบเว็บไซต์เพียงครั้งเดียว ลูกค้าสามารถเข้ามาใช้ได้อย่างไม่จำกัด

อย่างไรก็ตาม เทค-สตาร์ทอัพในไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ด้วยข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิต ทั้งแหล่งทุนและบุคลากร ซึ่งมีลักษณะพิเศษเฉพาะอุตสาหกรรม ในแง่ของทุนเนื่องจากเทคสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจใหม่ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจจะไม่คุ้มกับผลตอบแทนในหลายราย กอปรกับความเข้าใจธุรกิจของสถาบันการเงินยังอยู่ในระยะเริ่มต้น การปล่อยสินเชื่อจึงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง ขณะที่ในแง่ของบุคลากร กระดูกสันหลังของเทคสตาร์ทอัพคือวิศวกรซอฟท์แวร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การผลิตบุคลากรสาขานี้ของไทยยังจำกัด และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐหรือในกำกับของรัฐ ทำให้สัดส่วนธุรกิจเกิดใหม่ในสาขาขนส่งและการคมนาคม (หมวดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และหมวดบริการสารสนเทศอยู่ในสาขานี้) คิดเป็นเพียง 7% ของทั้งหมด แม้ว่าสาขาดังกล่าวจะเป็นเป้าหมายลำดับที่ 5 ของธุรกิจเกิดใหม่ก็ตาม

โดยสรุป โครงสร้างบริษัทเกิดใหม่ของไทยกระจายตัวและเบ้ไปทางธุรกิจบริการรูปแบบดั้งเดิม ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วจะกระจุกตัวในธุรกิจบริการรูปแบบสมัยใหม่และอาศัยเทคโนโลยี เช่น เทคสตาร์ทอัพ เป็นต้น นับเป็นความท้าทายข้างหน้าของผู้ที่เกี่ยวข้องในการกำหนดทิศทาง การอำนวยความสะดวก และการออกแบบชุดของมาตรการส่งเสริมให้เหมาะสมกับสตาร์ทอัพหรือบริษัทเกิดใหม่ของไทย เนื่องจากสตาร์ทอัพจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของประเทศในระยะถัดไป หากสามารถเกิดและอยู่ในสาขาที่มีผลิตภาพสูง (ใช้คนน้อย ใช้เทคโนโลยี และผลผลิตมาก) สตาร์ทอัพของไทยก็จะก้าวหน้าและก้าวไกลจากยุค 3.0 มาใช้ประโยชน์จากยุคของเทคโนโลยี 4.0 ได้อย่างแท้จริง

หมายเหตุ : เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องเทค-สตาร์ทอัพ ภายใต้โครงการศึกษาวิจัย Thematic Study ปี 2017 จัดทำโดยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย