สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ‘บิทคอยน์’

สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับ‘บิทคอยน์’

สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวดังกรณี WannaCry ไวรัสคอมพิวเตอร์ ที่ได้โจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์เกือบทุกมุมโลก และทำการเรียกค่าไถ่

เพื่อแลกกับการปลดล็อกข้อมูล ที่ถูกเข้ารหัสโดยไวรัสร้ายนี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือในแวดวงธุรกิจของประเทศไทย กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์ไวรัสที่ชื่อ WannaCry นี้มากนัก เพราะไวรัสคอมพิวเตอร์ไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่อีกต่อไป และหลายคนได้มีความคุ้นเคยกับไวรัส มาตั้งแต่ก่อนยุคของอินเทอร์เน็ตเสียอีก 

ในทางกลับกัน หลายคนในแวดวงธุรกิจ กลับมีความตื่นตัวและสนใจกับ บิทคอยน์ (Bitcoin) ซึ่งเป็นวิธีการจ่ายค่าไถ่ สำหรับไวรัส WannaCry

ถึงแม้ว่า Bitcoin จะได้ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 (8 ปีแล้ว) แต่คนไทยน้อยคน ที่จะรู้ว่า Bitcoin นั้นคืออะไร นอกเหนือไปจาก วิธีการจ่ายเงินอีกวีธีหนึ่ง บนโลกอินเทอร์เน็ต และการที่จะอธิบายว่า Bitcoin นั้นคืออะไร ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับผู้ฟังที่ไม่มีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

1.Bitcoin เป็นระบบจ่ายเงินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของอินเทอร์เน็ตเครือข่าย Bitcoin คือเครือข่าย Peer-to-Peer ที่มีการเชื่อมโยง ระหว่างคอมพิวเตอร์หลายหมื่น-หลายแสนเครื่อง โดยมีหัวใจสำคัญที่เรียกว่า Blockchain คือฐานข้อมูลที่กระจายอยู่บนเครือข่าย และบันทึกความเป็นเจ้าของ Bitcoin รวมทั้งการทำธุรกรรมทุกอย่าง ที่เกี่ยวกับ Bitcoin

2.เครือข่าย Bitcoin เป็นเครือข่ายประชาธิปไตย: ทุกคอมพิวเตอร์ที่คำนวณ Blockchain มีฐานะเท่ากัน (Peer) จึงอาศัยการโหวต เพื่อตัดสินว่าคอมพิวเตอร์เครื่องใด มีการคำนวณอย่างสื่อสัตย์สุจริต ดังนั้น ตราบเท่าที่ 51% ของคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ก็จะไม่มีใครโจมตีหรือ Hack เครือข่าย Bitcoin ได้สำเร็จ

3.การสร้าง Bitcoin แต่ละหน่วย เป็นรางวัลที่ให้กับคอมพิวเตอร์ที่ช่วยคำนวณ Blockchain ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนกัน แต่มีการควบคุมอัตราการเกิดใหม่ของ Bitcoin และท้ายที่สุด จะไม่มีเกินกว่า 21 ล้าน Bitcoin ในโลก: เป็นการออกแบบแต่แรก เพื่อคงไว้ซึ่งมูลค่าของ Bitcoin และให้แตกต่างกับการบริหารเงินสกุลต่างๆ ที่รัฐบาล สามารถพิมพ์เพิ่มได้ตลอดเวลา

4.การทำธุรกรรมบน Bitcoin จะไม่มีใครรู้ตัวตนของผู้ให้และผู้รับ: ด้วยการใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัส Public Keys และ Private Keys จึงสามารถหลีกเลี่ยงการควบคุมของรัฐบาล ค่าบริการของ ธนาคาร ภาษี ฯลฯ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถส่ง Bitcoin ไปได้ทั่วโลก โดยไม่ต้องมีอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นการจ่ายค่าไถ่ของ WannaCry ก็จะสาวไปไม่ถึงตัวตนของผู้รับเงิน ในทางกลับกัน หากผู้ที่ใช้ Bitcoin อย่างซื่อสัตย์ถูกโกง ก็จะไม่มีรัฐบาลใดที่ช่วยได้เช่นกัน

5.มูลค่าต่อหน่วยของ Bitcoin ได้เพิ่มขึ้นหลายแสนเท่า จากวันเริ่มต้นของ Bitcoin และ Bitcoin ทั้งหมดในโลกมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ และมีผู้ใช้งานทั่วโลกราว 100 ล้านคน: บางคนจึงมอง Bitcoin เป็นการลงทุน

6.มีค่าบริการ เป็นหลักเปอร์เซ็นต์ ในการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินจริง กับ Bitcoin

7.ยังไม่มีใครรู้ตัวตน หรือกระทั่ง สัญชาติของผู้ที่เป็นต้นกำเนิดของ Bitcoin เว้นแต่เพียงนามปากกา ที่ชื่อ Satochi ที่ได้หายสาบสูญไปหลายปีแล้ว

ถึงแม้ว่า Bitcoin จะเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจในตัวของมันเอง 2 ปีที่ผ่านมา วงการ FinTech ได้มีการประยุกต์ใช้ เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นหัวใจของ Bitcoin ออกมาสู่การสร้างนวัตกรรมทางการเงินอื่นๆ ซึ่งในปัจจุบัน ความสนใจใน Blockchain กลับไม่ได้แพ้ความสนใจใน Bitcoin เลย

ปัจจุบัน Bitcoin ได้ถูกยอมรับว่าไม่ได้ผิดกฎหมายในหลายประเทศแล้ว ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ บางประเทศยังได้กำหนดอัตราภาษีที่เกี่ยวกับของการใช้ Bitcoin ในรูปแบบต่างๆ เพียงแต่ยังไม่มีความชัดเจน ว่ารัฐจะสามารถ Enforce ได้อย่างไร เพราะไม่มีวิธีสืบค้นตัวตนของผู้ที่ใช้งาน Bitcoin แม้จะใช้ Supercomputer ถอดรหัสก็ตาม