มองต่าง ไม่(ควร)หมางใจ

มองต่าง ไม่(ควร)หมางใจ

บทความนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของดิฉัน ไม่ใช่ความเห็นของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สังกัดอยู

ต้องออกตัวไว้ก่อนเพราะในครั้งนี้อยากชวนวิพากษ์กรณีของ "เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล" ที่เพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาฯท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่บวกและแง่ลบจากสังคมทุกหมู่เหล่าอย่างกว้างขวาง  อยากเขียนถึงเนติวิทย์ก็เพราะเขาเป็นคนหนุ่มที่น่าจะทำประโยชน์ให้กับสังคมไทยเราได้มาก หากสังคมและตัวเขาเองรู้จักบริหารจุดเด่น จุดด้อยของเนติวิทย์ได้ถูกต้อง

นานมาแล้วสมัยที่ดิฉันเป็นนิสิตอยู่จุฬาฯ และได้รับเลือกเป็นรองประธานสภานิสิต ดิฉันคลุกคลีอยู่กับเพื่อนพ้องน้องพี่จุฬาฯหลายคนที่เป็น “เด็กกิจกรรม” สมัยนั้นเราก็มีการจัดกิจกรรมมากมายโดยมีอุดมการณ์เพื่อพัฒนาสังคม เช่น ออกค่ายพัฒนาชุมชน เคลื่อนไหวต่อต้านการขึ้นราคาน้ำตาลทรายซึ่งทำให้ประชาชนผู้มีรายได้ต่ำเดือดร้อน ต่อต้านเผด็จการนายทุน ฯลฯ

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีต ดิฉันเห็นว่าตัวเองและเพื่อนฝูงหลายคนในสมัยนั้นยังมองสังคมและมองโลกด้วยความเชื่อว่าเราสามารถเปลี่ยนมันให้เป็น “ยูโทเปีย” (“Utopia” คือสังคมบนเกาะในจินตนาการของเซอร์ทอมัส มอร์ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Utopia ในปี ค.ศ. 1516 อันมีความหมายถึง “สถานที่ดี” เป็นสังคมในอุดมคติ) ได้

กาลเวลาผ่านไปจนถึงวันนี้เราจึงตระหนักว่าในโลกแห่งความเป็นจริงมีอุปสรรคข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้เราเปลี่ยนสังคมให้เป็นแบบ “ยูโทเปีย” ไม่ได้ หนึ่งในข้อจำกัดนั้นคือความรู้ ประสบการณ์และทัศนะคติที่คับแคบของตัวเรานั่นเอง ในสมัยนั้นอาจารย์บางท่านมองพวกเราซึ่งเป็นเด็กกิจกรรมด้วยสายตาที่ระแวงและไม่ค่อยชอบ เแต่อาจารย์หลายท่านก็มองเราด้วยสายตาธรรมดาและพร้อมที่จะให้คำแนะนำและรับคำเชิญของพวกเรามาเป็นวิทยากรในงานเสวนาที่เราจัดหลายครั้ง ก็ด้วยความกรุณาของอาจารย์หลายๆท่านนี้เองที่ได้ให้ข้อมูล มุมมอง มุมวิเคราะห์ที่เฉียบคมช่วยเปิดโลกทัศน์ของพวกเรามาจนทุกวันนี้ ซึ่งก็ขอกราบขอบพระคุณบูรพาจารย์มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

เนติวิทย์เป็นคนหนุ่มที่มีเนื้อหา อาจกลายเป็นประชาชนคุณภาพของสังคมไทยได้หากผ่านการเจียระไนที่ดี เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วสมัยที่เขายังเป็นนักเรียนอยู่ที่ รร.นวมินทราชินูทิศ เขาสร้างความฮือฮาด้วยการปฏิเสธไม่รับ “รางวัลสิทธิมนุษยชน” ประเภทเด็กและเยาวชนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้วยเหตุผลที่ว่า “พฤติกรรมที่ผ่านมาของกสม.ดูเหมือนไม่มีความจริงใจหรือสนใจประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิฯ ทั้งกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเดือนเม.ย – พ.ค. 2553 รวมถึงก็ไม่เคยแสดงท่าทีสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนแต่อย่างใด” (ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

เนติวิทย์ยังได้สร้างกลุ่มนักเรียนและทำการเรียกร้องให้มีปฏิรูปการศึกษาไทย ประเด็นที่เขาและเพื่อนๆเรียกร้องให้มีการปฏิรูปคือสิทธิในร่างกาย ในการเลือกทรงผม การแต่งกาย และเนื้อหาวิชาต่างๆที่เรียนให้สนองความต้องการของสังคมได้ ในหลายประเด็นที่เนติวิทย์ระบุมาเคยเป็นประเด็นที่ดิฉันเคยถามคุณครูของดิฉันที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์มาแล้ว ซึ่งคุณครูของดิฉันเคยให้คำตอบว่า “เหตุที่ รร. ให้ นร.ตัดผมสั้นเพราะเด็กๆโดยมากดูแลอนามัยของตนไม่ดีพอ หลายคนมีเหา และพออากาศร้อนมากๆเด็กบางคนก็เป็นโรคผิวหนัง เช่น ชันนะตุหรือเชื้อราได้ง่ายๆ ผู้ใหญ่จึงคิดว่าการตัดผมสั้นจะช่วยลดปัญหา นอกจากนี้เด็กบางคนที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยสามารถมีสตางค์ดัดผม ทำผมทรงต่างๆ (สมัยนี้คงทำสีผมและจัดทรงโดยแฮร์สไตลิสต์ระดับโลก?) หรือใส่เสื้อผ้า ใช้กระเป๋าและรองเท้าราคาแพง ใส่เครื่องประดับแพงๆที่นอกจากจะเป็นอันตรายกับตัวเองแล้ว ยังทำให้เพื่อนที่ไม่สามารถมีของแพงๆได้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจไม่อยากมาเรียน อาจขโมยของหรือกดดันพ่อแม่ให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาซื้อให้ลูก เพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันเรื่องฐานะ จึงเป็นเหตุผลที่ รร. อยากให้ นร. แต่งเครื่องแบบไปเสีย”

คำอธิบายของคุณครูแม้จะไม่ถูกใจดิฉันที่อยากไว้ผมยาว แต่ก็เป็นคำตอบที่มีเหตุผลทำให้ดิฉันเข้าใจและยอมรับนโยบายของ รร.ได้ ดิฉันคิดว่าหากผู้ใหญ่ ครูอาจารย์เปิดใจรับฟังความเห็นของเยาวชนที่คิดต่างและใช้หลักเหตุผลมาพูดคุยหรืออธิบายให้เด็กฟัง ช่องว่างและความขัดแย้งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ตลอดจนระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกันเองคงจะลดลง นอกจากเรื่องของเสื้อผ้าหน้าผมแล้ว ประเด็นเรื่องปฏิรูปการศึกษาที่เนติวิทย์และกลุ่มนักเรียนเรียกร้องก็เป็นเรื่องที่มีสาระ มิฉะนั้นแล้วรัฐบาลหลายต่อหลายสมัยคงไม่บรรจุเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไว้ในแผนงานเป็นแน่ เช่นเดียวกันกับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังเดินหน้างานชิ้นนี้อยู่

เมื่อเนติวิทย์เข้าศึกษาที่จุฬาฯแล้วก็สร้างข่าวมาเป็นระยะๆโดยในปีแรกไม่ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารด้วยมโนธรรม และล่าสุดเมื่อได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตก็ประกาศนโยบายที่จะปฏิรูปประเพณีรับน้องของจุฬาฯ และเปลี่ยนการถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าให้เป็นการยืนเคารพแทน โดยเรื่องของการถวายความเคารพได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับคนหลายกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนเขา ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ยังไม่เห็นมีการแสดงออกซึ่งความพยายามของผู้ที่มีความเห็นต่างกันตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในการหาเวทีที่แต่ละฝ่ายจะพูดจาสร้างความเข้าใจกัน คงมีแต่การวิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามด้วยถ้อยคำอันรุนแรง เป็นการขยายวงของความขัดแย้งมากขึ้นไปอีก

ประเด็นเหล่านี้ก็เหมือนกับประเด็นทางการเมืองการปกครองและประเด็นทางการทูตที่ใช้แค่หลักเหตุ-ผลไม่พอ ต้องมีการใช้หลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จริยธรรมและจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง ตามความเป็นจริงเรื่องของการรับน้องมีหลายประเด็นที่ทุกมหาวิทยาลัยควรทบทวนอย่างที่เนติวิทย์นำเสนอ งานรับน้องควรมีสาระและเป็นประโยชน์ต่อตัวนิสิต สถาบันและสังคมมากกว่านี้ ไม่ใช่มีแต่การที่รุ่นพี่นำแป้งนำสีมาทาหน้ารุ่นน้อง นำอาหารแปลกๆมาให้ทาน มีการ “ว้ากน้อง” บังคับให้น้องดื่มเหล้าและทำอะไรหลายอย่างที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เรื่องอย่างนี้ไม่ควรเป็นการบังคับ งานรับน้องควรมีส่วนผสมของสาระและความสนุกบันเทิงที่พอดีๆ

ส่วนประเด็นเรื่องการถวายบังคมนั้นเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่เนติวิทย์อาจคิดไม่ถึงว่าสังคมไทยกับสังคมทั่วโลกล้วนมีความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรมประจำชุมชนและประจำชาติที่แตกต่างกัน ปัญญาชนที่เป็น “พลเมืองโลก” (Global citizen) ที่ดี ต้องเรียนรู้ ยอมรับและเคารพในความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม ไม่สามารถตัดสินว่าอะไรผิด-ถูกด้วยกรอบความคิดที่คับแคบ จริงอยู่ที่เรื่องของศรัทธาและความเคารพเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้ แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะเคารพให้เกียรติผู้ที่คิดและเชื่อแตกต่างจากเราได้ เช่น เวลาเราไปร่วมพิธีกรรมของคนในศาสนาอื่น แม้เราจะไม่ได้เคารพศรัทธาในศาสนานั้น เราก็พึงให้เกียรติผู้นับถือศาสนานั้นด้วยการทำตัวกลมกลืนไปกับเขา ไม่จำเป็นต้องทำตัวแตกต่างหรือวิจารณ์ว่าศาสนพิธีของเขาเป็นเรื่องงมงายล้าหลัง ทำไมไม่ทำอย่างนี้อย่างโน้น หากเราไม่เห็นด้วยจริงๆก็อย่าไปเข้าร่วมพิธีนั้น และหากประเพณีใดๆมิได้เบียดเบียนทำร้ายใครโดยไม่เป็นธรรม ก็ควรวางเฉย เว้นเสียแต่ว่าประเพณีนั้นสร้างความเดือดร้อนหรือเบียดเบียนชีวิตคนและสัตว์ แบบนั้นจึงควรเคลื่อนไหวต่อต้าน

การรู้จักกาลเทศะ การควรไม่ควร การเลือกประเด็นวิพากษ์วิจารณ์หรือประเด็นในการทำงานจึงควรเป็นประเด็นที่มีสาระประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเวลานี้จึงเป็นเรื่องที่เนติวิทย์และผู้เกี่ยวข้องน่าจะนำไปทบทวนวิธีการคิดและวิธีการปฏิบัติกันอีกครั้งก็คงจะเป็นเรื่องดี