ลุ้น'ไจก้า'งัดบัญชีดำ คุมมาตรฐานก่อสร้าง

ลุ้น'ไจก้า'งัดบัญชีดำ คุมมาตรฐานก่อสร้าง

ว่ากันว่า 'ชีวิตคนไทยราคาถูก' อุบัติเหตุตายเป็นเรื่องธรรมดา ได้เงินชดเชยไม่กี่หมื่น กี่แสน เรื่องก็จบ

อุบัติเหตุเครนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ล้มจนมีผู้ต้องสังเวยชีวิตถึง 3 ราย ทั้งหมดเป็นคนงานของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) สรุปสาเหตุว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทของวิศวกรควบคุมงานในขณะนั้น

เหตุเศร้าสลดนี้ทำให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ในฐานะเจ้าของโครงการ ต้องหันมาทบทวนยกเครื่องมาตรการดูแลความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างกันใหม่ เพราะนับจากนี้ประเทศไทยจะมีโครงการก่อสร้างผุดขึ้นอีกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ 7 สาย รถไฟทางคู่มากกว่า 10 เส้นทาง ท่าเรือขนาดใหญ่ ทางด่วน หรือแม้กระทั่งมอเตอร์เวย์ ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่จะทับซ้อนกับพื้นที่จราจรที่ประชาชนใช้สัญจรประจำวัน

แนวทางคือ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการก่อสร้างเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย และต้องจัดทำแผนการกำกับและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง (Safety Audit Plan)เพื่อกำกับผู้รับเหมาและบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างอีกชั้นหนึ่ง

กระทรวงคมนาคมยอมรับว่า‘ที่ผ่านมาผู้รับเหมาปล่อยปละละเลย ไม่ได้เข้มงวดเรื่องความปลอดภัยอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่ค่อยมีอุบัติเหตุร้ายแรงเกิดขึ้น’

ต้องยอมรับว่าอุบัติเหตุตามแนวก่อสร้างเกิดขึ้นถี่โดยเฉพาะวัสดุ และอุปกรณ์งานก่อสร้างหล่นจากรางรถไฟฟ้าทำให้คนบาดเจ็บหรือทรัพย์สินเสียหาย เพียงแต่อุบัติเหล่านั้นไม่เป็นข่าวถ้าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง

กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะเจ้าของโครงการรถไฟฟ้า ก็ต้องชี้แจงเรื่องมาตรฐานเพิ่มความปลอดภัยกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ในฐานะเจ้าของแหล่งเงินกู้ไจก้าได้เห็นชอบตามแผนที่เสนอและกำชับว่า ‘ต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง’

ล่าสุดไจก้าในฐานะหน่วยงานเจ้าของเงินกู้โครงการนี้ ส่งทีมงานเข้ามาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ด้วยตัวเอง โดยจะส่งรายงานสรุปสาเหตุของอุบัติเหตุและมาตรการเพิ่มความปลอดภัยมาให้การรถไฟฯ ในสัปดาห์นี้

ส่วนข่าวลือเรื่องไจก้าเตรียมขึ้นบัญชีดำ ITD จากอุบัติเหตุดังกล่าวนั้นถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน หรือการพูดคุยอย่างเป็นทางการจากไจก้าต้องรอลุ้นระทึกกันต่อไป

ที่ผ่านมาไจก้าก็เคยขึ้นบัญชีดำบริษัทที่มีปัญหามาแล้ว เช่น การขึ้นบัญชีดำบริษัทแห่งหนึ่งจากกรณีการจ่ายสินบนในประเทศอินโดนีเซีย โดยบัญชีดำของไจก้า เป็นเพียงมาตรการลงโทษชั่วคราวไม่ใช่การห้ามประมูลตลอดไปเหมือนกฎหมายไทย

การเข้ามาทำรายงานสอบสวนอุบัติเหตุ และเสนอแนะแนวทางป้องกันปัญหาของไจก้า ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการดูแลชีวิตคนไทย ขององค์กรข้ามชาติแห่งนี้ ถ้าผู้เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงคมนาคม ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือแม้แต่สถาบันการเงิน ใส่ใจความปลอดภัยของคนไทยได้เท่านี้

...ชีวิตคนไทยคงมีค่ามากขึ้น

.......................

นพวรรณ เตชะเสนีย์