จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงกว่าแค่การเลือกตั้งสส.ได้อย่างไร

จะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงกว่าแค่การเลือกตั้งสส.ได้อย่างไร

ปฏิวัติประชาธิปไตยพ.ศ. 2475 นำโดยปัญญาชน กลุ่มเล็กๆ ประชาชนยังไม่มีความรู้/ตื่นตัวทางการเมือง

 คณะปฏิวัติพยายามสร้างกระบวนการแบบราชการสมัยใหม่ แต่ไม่ได้ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและการศึกษา หลังจากปี 2490 ชนชั้นสูงก็ยึดอำนาจคืน พวกเขาปรับตัวเข้ากับระบบทุนนิยมโลกได้ดี เป็นทุนนิยมแบบบริวารที่เติบโตเพราะการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน ขณะเดียวกันพวกเขาก็ครอบงำเรื่องการศึกษา วัฒนธรรมทางความคิด ให้ประชาชนคงมีแนวคิดจารีตนิยม อุปถัมภ์นิยมมาโดยตลอด

ไทยนำเข้าและเลียนแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และรูปแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มาจากประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมทีหลัง และนำมาใช้เฉพาะตัวรูปแบบ เช่น การเลือกตั้งผู้แทน ใครได้เสียงข้างมาก ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีที่คดงออย่างไรก็ได้กลายเป็นรัฐบาลเผด็จการเสียงสส. ข้างมาก แต่สังคมไทยไม่ได้พัฒนา เนื้อหาสาระ” แนวความคิดที่เป็นประชาธิปไตย เช่น การที่ประชาชนสนใจการฟัง การอ่าน ตระหนักว่าตนเองมีสิทธิเสรีภาพโดยธรรมชาติที่จะต้องปกป้องไม่ให้เกิดรัฐบาลเผด็จการมาละเมิด รู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ

ไทยไม่ได้ปฏิรูปการศึกษา ไม่ได้ปฏิรูปเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก การสอนค่านิยมทางสังคมให้กับเด็ก ที่จะเปลี่ยนแปลงให้คนไทยรู้จักคิด วิเคราะห์ อย่างมีเหตุผล สังเกต ทดลอง หาข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อยืนยันความถูกต้องอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มีความสนใจและเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของปัจเจกชน และความสำคัญของการร่วมมือกันทำตามเสียงส่วนใหญ่ที่มีเหตุผล เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง

ไทยในรอบ 80 กว่าปีที่ผ่านมาพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมให้เติบโตได้สูงพอสมควร แต่การพัฒนาการเมืองและสังคมมีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ และมีปัญหาความขัดแย้งและความแตกต่างระหว่างประชาชนชนชั้น/กลุ่มต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ เพราะโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองของไทยรวมศูนย์ผูกขาดอยู่ในมือเจ้าของที่ดิน นายทุน ข้าราชการระดับสูง ซึ่งเป็นคนมีอำนาจส่วนน้อยมาตลอด การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เป็นบริวารไม่ได้กระจายทรัพย์สิน รายได้ โอกาสทางการศึกษา และอื่นๆ ไปสู่ประชาชนอย่างเป็นธรรมในรอบ 30 ปีหลัง มีความแตกต่างไม่เป็นธรรมสูงขึ้นด้วย

กรอบความคิดของคนไทยส่วนใหญ่หรือจำนวนมากในยุคปัจจุบันยังไม่ได้ก้าวข้ามความคิดจารีตนิยมที่ครอบงำให้คนศรัทธาสถาบันสังคมแบบจารีต เพราะคนส่วนใหญ่คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ อย่างเป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองไม่เป็น ต่างจากในอเมริกาและในยุโรปในยุคศ. ที่ 18 ที่ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้จากการฟัง การอ่าน และการมีส่วนร่วมในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของพวกตนมากกว่า ระบบประชาธิปไตยของพวกเขาจึงพัฒนาทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ในช่วงสั้นๆ ของการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาธิปไตยพ.ศ. 2475 และ 14 ตุลาคม .. 2516 ประชาชนไทยส่วนหนึ่งตื่นตัวอ่านหนังสือ แสวงหาความรู้ใหม่และมีแนวคิดต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่กระแสไม่แรงมากพอ และไม่อยู่ได้นานเพียงพอ ชนชั้นสูงไทยผู้มีแนวคิดจารีตนิยมที่ฝังแน่น มีกำลัง ความรู้ และสะสมประสบการณ์ในการปกครองมาช้านาน ปรับตัวและโต้กลับขบวนการประชาชนได้เก่งกว่า ชนชั้นฝ่ายจารีตนิยมที่อำนาจลดลงหลังปี 2475 สามารถกลับมาเป็นฝ่ายมีอำนาจครอบงำสังคมไทยได้อีกตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2490 เป็นต้นมา

การพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลก ทำให้คนไทยยุคปัจจุบันได้ข้อมูลข่าวสารจากโลกสมัยใหม่มากขึ้นจริง แต่คนไทยเลือกรับเฉพาะรูปแบบการดำเนินชีวิตภายนอก มากกว่าที่จะรับเนื้อหาสาระความรู้ ถึงคนไทยในยุคนี้จะรับข่าวสารจากโลกสมัยใหม่มากขึ้น แต่งตัวและใช้ชีวิตแบบชาวตะวันตก มีโทรทัศน์ สมาร์ทโฟน ต่ออินเทอร์เน็ตรับข้อมูลข่าวสารได้ (ราว 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากร) แต่ในแง่ความคิดความเชื่อ คนไทยส่วนใหญ่หรือจำนวนมาก ยังคงมีความคิดความเชื่อแบบเชื่อโชคลางของขลัง คล้ายๆ คนยุโรปในยุคมืดหรือยุคความเชื่อแบบศรัทธาอย่างงมงายเมื่อ 400-500 กว่าปีที่มาแล้ว

ปัญหาใหญ่ของไทยนอกจากเรื่องความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางด้วยฐานะ รายได้ ความรู้ อำนาจต่อรองแล้ว คือ เรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ถูกชนชั้นสูงครอบงำมีวัฒนธรรมให้มีความเชื่อแบบจารีตนิยม อุปถัมภ์นิยม ประชานิยม (ประชารัฐด้วยศรัทธา อารมณ์ อคติ ความงมงาย ขณะที่คนชั้นกลาง ปัญญาชนไม่เข้มแข็งในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุผลตามหลักวิทยาศาสตร์ และการศึกษาค้นคว้าเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของประเทศไทยอย่างวิเคราะห์เจาะลึกและอย่างต่อเนื่อง ปัญญาชนที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตย เป็นคนส่วนน้อยที่ทั้งถูกฝ่ายชนชั้นสูงปราบปราม ดึงเข้าเป็นพวก และเกิดความขัดแย้งในหมู่ปัญญาชนด้วยกันเองทั้งในทางความคิด อำนาจและผลประโยชน์

การจะเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงจากล่างชั้นบนคือภาคประชาชน คนไทยต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผล ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ (แบบวิทยาศาสตร์สนใจอ่านหนังสือ ค้นคว้า คุยกันถกกันเรื่องชีวิต สังคม การเมือง วัฒนธรรม สนใจใฝ่รู้เชิงเหตุผลให้มากขึ้น ต้องปฏิรูปเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูเด็กและระบบการสอน, การเรียนในโรงเรียน จากแบบผู้ใหญ่ใช้อำนาจ ฝึกให้เด็กท่องจำและฝึกทักษะ เป็นการเลี้ยงดูเด็กและสอนอย่างมีเหตุผล ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการเรียนรู้ และตามหลักสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยแนวก้าวหน้า เพื่อพัฒนาเด็กเยาวชนและประชาชนให้เป็นพลเมืองที่มีความฉลาดทางปัญญา ทางอารมณ์ และจิตสำนึกเพื่อสังคม มากพอที่จะเป็นพลังในการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปสังคมไทยเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

(วิทยากร เชียงกูล. การปฏิวัติประชาธิปไตยอเมริกัน/ฝรั่งเศส คนไทยควรเรียนรู้อะไร. แสงดาว, 2560 www.saengdao.com โทร 02-9549841)