วิกฤติที่ทรัมป์สร้างขึ้นให้กับตัวเอง (1)

วิกฤติที่ทรัมป์สร้างขึ้นให้กับตัวเอง (1)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ออกคำสั่งปลด

ผู้อำนวยการเอฟ บี ไอ นายเจมส์ โคมีย์ จนกระทั่งปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ล้วนแต่เป็นการดำเนินการของนายทรัมป์ ที่กำลังนำตัวเองไปสู่วิกฤติที่อาจถึงขั้นที่รัฐสภา จะต้องเริ่มกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีใน 6-12 เดือนข้างหน้าก็เป็นได้ ประเด็นที่สำคัญคือการบั่นทอนตัวเองทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์นั้น น่าจะกำลังทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์สูญเสียความน่าเชื่อถือและบารมีทางการเมืองทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่การปฏิรูประบบภาษี การปรับปรุงระบบประกันสุขภาพและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้สำเร็จลุล่วงไปได้ อย่างดีที่สุดในความเห็นของผมคือทรัมป์สามารถบริหารจัดการวิกฤติทางการเมืองได้ในระดับหนึ่งภายใน 1 ปีข้างหน้า ทำให้มีโอกาสขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้นได้ โดยน่าจะเสียเวลาไปประมาณ 1 ปีเต็มซึ่งเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 9-17 พฤษภาคมที่ผ่านมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวพอจะสรุปได้ดังนี้

9 พฤษภาคม - ประธานาธิบดีทรัมป์เขียนจดหมายปลดนายโคมีจากตำแหน่งผู้อำนวยการเอฟบีไอ โดยให้รปภ.ส่วนตัวนำส่งจดหมายไปที่สำนักงานใหญ่เอฟบีไอที่กรุงวอชิงตัน แต่นายโคมีรับรู้ข่าวจากโทรทัศน์ เพราะไปตรวจงานที่มลรัฐ ลอส แอนเจิลลิส

สาระสำคัญของจดหมายและคำอธิบายที่รองประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารนิเทศของทรัมป์ใช้อธิบายกับสื่อมวลชน อ้างว่าเป็นเพราะบันทึกที่จัดทำขึ้นโดยรองอัยการสูงสุด (นาย Rosenstein) ที่ตำหนิการทำงานของนายโคมีย์ ในการสอบสวนการนำเอาข้อมูลลับของทางราชการโดยนางฮิลลารี คลินตันสมัยที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาเก็บรักษาเอาไว้ในฐานข้อมูลส่วนตัว นอกจากนั้นก็ยังอ้างว่านายโคมีย์ยืนยันใน 3 โอกาสว่ามิได้สอบสวนนายทรัมป์ในเรื่องใดเลย

10 พฤษภาคม ทราบภายหลังว่าทรัมป์ได้ให้รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียคือนาย Lavrov และเอกอัคราชทูต Kislyak เข้าพบที่ห้องทำงานของประธานาธิบดี (Oval office) โดยการเผยแพร่ภาพข่าวจากสำนักข่าวของรัสเซีย (Tass) ทั้งนี้ทำเนียบขาวพยายามปกปิดการเข้าพบดังกล่าวและมิได้มีสื่อมวลชนสหรัฐรับรู้การเข้าพบดังกล่าว (ต่อมาเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็สัมภาษณ์ว่า “ถูกหลอก” โดยรัสเซีย)

11 พฤษภาคม กระแสต่อต้านการปลดนายโคมีย์รุนแรงเกินกว่าคาด ทำให้ทรัมป์ไม่พอใจและตำหนิทีมทำเนียบขาวที่ไม่สามารถควบคุมทิศทางข่าวให้ไปในทางบวกได้ จึงตัดสินใจให้สำนักข่าว NBC มาสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ซึ่งในการสัมภาษณ์ดังกล่าวทรัมป์กลับลำ โดยบอกว่าตั้งใจจะปลดนายโคมีย์มานานหลายเดือนแล้ว (มิใช่เพราะบันทึกของรองอัยการสูงสุด ซึ่งมีข่าวลือว่าไม่พอใจที่ถูกนำมาอ้างและอาจขอลาออกหลังจากเพิ่งได้รับตำแหน่งเพียง 14 วัน) นอกจากนั้นก็ยังกล่าวเป็นนัยว่าปลดนายโคมีย์เพราะ “การสอบสวนเรื่องรัสเซีย” ซึ่งทำให้เป็นผลลบรุนแรงยิ่งขึ้นเพราะมีการแปลความว่าทรัมป์กำลังมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนั้นข้อกล่าวหาของทรัมป์ว่าพนักงานเอฟบีไอขาดความเคารพนับถือและความมั่นใจในตัวนายโคมีย์ (จึงควรถูกปลด) ยังถูกปฏิเสธโดยรักษาผอ.เอฟบีไอ นาย McCabe ที่กล่าวต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาว่านายโคมีย์ “enjoyed board support within the FBI and still does to this day”

12 พฤษภาคม ทรัมป์ทวีทในเชิงข่มขู่นายโคมีย์ ว่า “James Comey better hope that there are no ‘tapes’ of our conversations before he stars leaking to the press” ซึ่งผมแปลว่า “ระวังนะว่าทรัมป์ได้อัดเทปเอาไว้ จึงอย่าคิดจะไปปล่อยข่าวออกมา” ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็งกันว่านายโคมีย์ยินดีที่จะให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาที่กำลังสอบสวนเรื่องที่ฝ่ายข่าวกรองสรุปว่ารัสเซียได้เข้ามาแทรกแซงในกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และกำลังสืบสวนว่าทีมของทรัมป์นั้น Collude (รู้เห็นเป็นใจ) กับรัสเซียหรือไม่ แต่ทวีทดังกล่าวของทรัมป์ยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ขึ้นไปอีก เพราะทำให้ฝ่ายรัฐสภาและประชาชนต้องการฟังเทปดังกล่าว (ซึ่งเทปเคยเป็นหลักฐานมัดตัวประธานาธิบดีนิกสัน ทำให้ต้องยอมลาออกจากตำแหน่งในปี 1974 เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการถอดถอนจากตำแหน่งของรัฐสภา)

15 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์ Washington Post รายงานว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปิดเผยข้อมูล ลับที่สุดเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายไอเอสให้กับฝ่ายรัสเซียในระหว่างการสนทนากันในวันที่ 10 พฤษภาคม โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นข่าวกรองที่สหรัฐได้รับมาจากประเทศพันธมิตร (ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นอิสราเอล) ที่กำชับมิให้เปิดเผยกับประเทศอื่นๆ และให้เปิดเผยในวงจำกัดที่สุด แต่ทรัมป์หลุดปากออกมาบอกประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นปรปักษ์กับสหรัฐ (และยังสนับสนุนอิหร่านและซีเรียซึ่งมีข้อขัดแย้งกับสหรัฐ) การกระทำดังกล่าวรวมทั้งการบอกแหล่งของข่าวกรองว่ามาจากเมืองอะไรจะทำให้ฝ่ายรัสเซียสามารถสืบหาได้ว่ามาจากใครและด้วยวิธีอะไร ซึ่งจะเป็นภัยอันตรายต่อแหล่งของข่าวกรองอย่างมากและจะทำให้ประเทศพันธมิตรขาดความเชื่อมั่นในการให้ความร่วมมือกับสหรัฐได้อีกด้วย แต่ต่อมารัฐบาลอิสราเอลแถลงข่าวออกมาลอยๆ ว่าพร้อมที่จะสนับสนุนและพัฒนาความร่วมมือด้านข่าวกรองกับประธานาธิบดีทรัมป์และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ (นาย McMaster) ก็ออกมายืนยันว่ามิได้มีการเปิดเผย แหล่งข่าวหรือการหาข่าวกรอง ที่เป็นความลับแต่อย่างใด

“ยังมีต่อไปในครั้งหน้าครับ”