ไม่รู้ ยิ่งไม่รู้ว่าไม่รู้

ไม่รู้ ยิ่งไม่รู้ว่าไม่รู้

อยู่ ๆสื่อมวลชนอเมริกาก็พากันขุดค้นงานวิจัย ที่ทำไว้เมื่อเกือบยี่สิบปีมาแล้วมาเผยแพร่กันใหญ่โต

 ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่รู้จักกันในวงการวิชาการว่า Dunning&Kruger Effect โดยงานวิจัยนี้บอกไว้ว่าเมื่อคนไม่รู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว มักสำคัญตัวผิดคิดว่ารู้ ซึ่งจะเริ่มเข้าใจว่าที่คิดว่ารู้นั้น จริงๆแล้วยังไม่รู้ ก็ต่อเมี่อได้รับความรู้เรื่องนั้นเพิ่มเติมขึ้นถึงระดับหนึ่ง คนที่เตะบอลไม่เป็น ดูถ่ายทอดฟุตบอลจากสนามระดับโลก เห็นอะไรที่ไม่ถูกใจ ก็บ่นว่าทำไมไม่ส่งให้คนนั้น ทำไมทำให้ออกขอบสนาม คนดูเห็นว่าอะไรก็ทำได้ง่ายไปหมด แต่พอคนดูคนนั้นลงไปเตะบอลในการออกกำลังกายประจำวันพุธที่กระทรวง ถึงรู้ว่าที่บอกให้เตะอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิดไว้ในตอนที่ตนเองนั่งดูอยู่ข้างสนาม คนไม่รู้มักคิดว่าตัวเองรู้มากกว่าที่รู้จริง ๆ

Dunning&Kruger Effect บอกในเบื้องต้นว่าคนไม่รู้จะประเมินความสามารถของตนเองในเรื่องที่ไม่รู้นั้น สูงกว่าที่เป็นจริง จนทำให้มีความมั่นใจในการทำงานเรื่องนั้นสูงเท่าเทียมกับคนที่เชี่ยวชาญจริงๆ ผู้ดักดานกับผู้เชี่ยวชาญมั่นใจในการทำงานแทบไม่แตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นคนละเรื่อง คนเก่งเรื่องหนึ่งไม่ได้ต้องเก่งเรื่องอื่นตามไปด้วย นักยิงปืนทีมชาติที่มาทำหน้าที่บริหารเศรษฐกิจ อาจสำคัญผิดคิดว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ตนพบเห็นนั้นไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ไข ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ระดับเซียนเห็นปัญหาเดียวกันแล้วทำตาปริบๆ บอกว่าเกินความสามารถ คนไม่รู้มักประเมินความสามารถของตนเองในเรื่องที่ไม่รู้สูงกว่าที่เป็นจริงมาก ๆ 

ผู้บริหารที่ไม่มีอารมณ์ขัน อาจคิดว่าตนเองพูดเรื่องตลกได้ดีเท่าๆกับพิธีกรเกมส์โชว์ และมักแสดงตลกฝืดๆ ในการประชุมกับพนักงานอยู่เสมอๆ ดังนั้นพึงเตือนตัวเองไว้เสมอว่าเรื่องไหนที่อยู่นอกกรอบการทำงาน นอกความเชี่ยวชาญของตัวเรา ให้หารสองขีดความสามารถในเรื่องนั้นที่เราคิดว่าเรามีไว้ก่อน ให้คูณสองเวลาที่เราคิดว่าเราต้องการในการทำเรื่องนั้นได้ไว้ด้วย

โดยปกติเราจะดูออกว่าใครเก่ง ใครไม่เก่งในวงการของเรา แต่ถ้าอยู่นอกวงการของเราแล้ว Dunning&Kruger Effect บอกว่าการประมาณความเก่งจะคลาดเคลื่อนกว่าที่เป็นจริง บอกไม่ได้ว่าคนนี้ต้องฝึกเพิ่มอีกแค่ไหน ถึงจะทำงานนั้นได้ดี อยู่นอกวงการประเมินฝีมือได้ยาก เพราะเราไม่รู้ว่าแค่ไหนที่ต้องเติมเติมจากที่มีอยู่แล้ว ผู้บริหารท้องถิ่นที่เป็นไก่อ่อนวงการบริหารทรัพยากรน้ำมาเขียนแผนบริหารน้ำของท้องถิ่น มักเติมผิดเติมถูก ใส่เงินใส่งานไปเท่าไร น้ำก็ล้น น้ำก็แล้งอยู่อย่างเดิม เพราะเติมในที่น้ำล้นเหลืออยู่แล้ว 

ขณะที่ละเลยไม่เติมในที่ยังขาดน้ำ เติมไม่ถูกเพราะไม่มีความรู้เรื่องน้ำเพียงพอที่จะประเมินได้ถูกต้องว่าที่ไหนเหลือ ที่ไหนขาด ดังนั้นถ้ายังตระหนักได้ว่าฉันไม่รู้ อย่าเดินหน้าทำเรื่องนั้น ก่อนถามผู้รู้อย่างเด็ดขาด แต่ที่ยากที่สุดคือไม่รู้อีกว่าใครคือผู้รู้ ใครคือกูรูในเรื่องนั้น ในกรณีที่เรื่องนั้นพูดแล้วดัง ใคร ๆก็พูดเรื่องนั้นประหนึ่งผู้เชี่ยวชาญกันหมด

ปกติแล้ว ถ้ามีข้อมูล มีสาระมากขึ้น เราย่อมเข้าใจมากขึ้น ย่อมตัดสินใจเรื่องนั้นได้ดีขึ้น แต่ Dunning&Kruger Effect กลับบอกว่าถ้าความรู้เรื่องนั้นยังไม่พอ ข้อมูลสารสนเทศมากท่วมหัวก็ไม่ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องนั้น ตัดสินใจเรื่องนั้นได้ดีขึ้นแต่อย่างใด ถ้าไม่มีความรู้เรื่องการเงินการบัญชี จะมีรายงานการเงินของบริษัทให้อ่านสักกี่ร้อยหน้า ก็ยังตัดสินใจไม่ได้อยู่ดีว่าจะลงทุนกับบริษัทนั้นได้ดีหรือไม่ ข้อมูลสารสนเทศจึงไม่ช่วยอะไรให้เราในการตัดสินใจเรื่องที่รู้ไม่พอ 

หนทางแก้ไขมีทางเดียวเท่านั้นคือเมื่อตระหนักว่าไม่รู้ ให้เริ่มไล่หาความรู้เรื่องนั้นตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปจนกระทั่งเริ่มรู้มากขึ้นว่ายังไม่รู้อะไร ถ้าหาความรู้มาแล้วยังนึกไม่ออกว่าอะไรที่ยังไม่รู้ แปลว่ายังหาความรู้ไม่พอ ยังประเมินความสามารถของเราในเรื่องนั้นยังไม่ได้ Dunning&Kruger Effect บอกว่าจะรู้อย่างถ่องแท้ว่าไม่รู้เรื่องใด ต่อเมื่อเราเรียนรู้เรื่องนั้น จนเกิดความรู้ในระดับที่เพียงพอจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอย่างไร แล้วเมื่อนั้นมโนว่าฉันเก่งทุกเรื่อง ฉันทำได้ทุกเรื่องจะค่อย ๆหมดไป