ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องแก้ทั้งระบบ

ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องแก้ทั้งระบบ

การลงนามแก้หนี้ไร้หลักประกันหรือหนี้เสีย ที่เกิดจากบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

 โดยการจัดตั้งคลินิกแก้หนี้ ที่มีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแม่งานโดยดึง 16 สถาบันการเงินมาลงนามความร่วมมือ และให้บริษัทบริหารสุขุมวิท หรือแซมเป็นตัวกลาง ในการบริหารจัดการหนี้โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2560 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากหากให้แต่ละธนาคารพาณิชย์มาจัดการหรือทวงถามหนี้เอง อาจจะทำให้เกิดความวุ่นวาย และที่สำคัญลูกหนี้ก็อาจจะไม่มีศักยภาพเพียงพอ ในการชำระหนี้หากยังคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ระดับ 20-25% 

ข้อมูลที่เป็นสถิติของบริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร พบว่า กลุ่มคนเจนวาย หรือกลุ่มคนวัยเริ่มต้นทำงานใหม่อายุต่ำ 30 ปี เป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มเป็นหนี้บัตรเครดิตและใช้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้เสียเร็วขึ้นด้วย ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะกลุ่มคนวัยนี้อาจมีการยับยั้งชั่งใจน้อยในการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งยังพบด้วยว่า คนไทยที่มีหนี้เสีย หรือมีหนี้ค้างชำระมากกว่า 90 วัน เป็นกลุ่มอายุ29-30ปี มีอัตราส่วนถึง 1 ใน 5 ซึ่งไม่นับรวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงเช่นกัน โดยค่าเฉลี่ยหนี้ต่อคนได้เพิ่มขึ้นจาก 7 หมื่นบาทในปี 2553 เป็น 1.5 แสนบาทในปี 2559 

การเปิดคลินิกแก้หนี้ เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยอมรับว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนได้เพิ่มความ รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจากข้อมูลล่าสุด หนี้ภาคครัวเรือนได้ปรับลดลงบ้าง จากระดับ 81.2%ของ จีดีพี ในปี 2558 มาอยู่ที่ระดับ 79.9% ในสิ้นปี 2559 แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่สูง

การแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงิน หากภาครัฐทำคู่ขนานไปกับการจัดการหนี้นอกระบบ ก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้ปัญหาหนี้ได้รับการแก้ไขอย่างบูรณาการ รวมทั้งการเร่งแก้ปัญหาหนี้ส่วนบุคคล ยังเป็นการช่วยทำให้หนี้เหล่านี้ได้รับการแก้ไขก่อนที่จะหนี้ส่วนนี้ จะไหลออกไปเป็นหนี้นอกระบบ หากว่าลูกหนี้เหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยาและแก้ไข หรือไร้ทางออกต่อการแก้ปัญหาอาจทำให้ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบก็เป็นได้ 

ปัญหาหนึ่งของหนี้สินครัวเรือนที่มักจะวนกลับมาอยู่เสมอๆ เป็นเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ทำให้กำลังซื้อของคนลดลง โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อย ที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม แม้แต่มนุษย์เงินเดือนหรือผู้มีรายได้ประจำก็เริ่มไม่มั่นใจในรายได้ สะท้อนจากดัชนีเศรษฐกิจฐานรากธนาคารออมสินไตรมาสแรกปีนี้ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 47.2 จากไตรมาส4 /2559 อยู่ที่ 49.9 

เราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่เกิดจากสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือแบงก์ชาติและภาครัฐต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่ปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นในระบบ หากลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้วหาทางออกไม่ได้ เข้าตาจน ต้องหันไปพึ่งเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งถูกชาร์จดอกเบี้ยแพงถึง 20 % และอาจถึง 30-40% ต่อเดือนหรือต่อปี ซึ่งจะทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเรื้อรังจนยากที่จะแก้ไข