ไทยตั้งเป้า 4.0 เอสโตเนียไป 5.0 แล้ว

ไทยตั้งเป้า 4.0 เอสโตเนียไป 5.0 แล้ว

ถ้าไทยเราจะก้าวเข้าสู่ความเป็น Thailand 4.0 จริง ต้องเรียนรู้จากเอสโตเนีย ประเทศที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน

 เนื้อที่แค่ 45,339 ตารางกิโลเมตรแต่ได้รับจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ของโลกในเรื่อง

- การพัฒนา digital technology

- จำนวน startups ต่อประชากร

- อิสรภาพของการใช้อินเทอร์เน็ท

- มีกฎหมายระบุชัดว่า internet connection เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

- ประสิทธิภาพในการใช้ digital technology ในการบริการประชาชน

ด้วยการประกาศตนเป็นประเทศดิจิทัลเต็มตัว ใครก็สามารถเปิดบริษัทได้ใน 18 นาที และเปิดบริษัทที่ไหนก็ได้ในโลก ไม่จำเป็นต้องไปยื่นที่ประเทศเอสโตเนีย เพราะเอกสารออนไลน์ทั้งหมด

ธนาคารออนไลน์เกือบทั้งหมด ธุรกรรมเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ 99%

ประเทศนี้จัดการเลือกตั้งออนไลน์ (i-voting) เป็นประเทศแรกของโลก มีการลงคะแนนเสียงออนไลน์มากถึง 30%

ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของรัฐได้ทุกกระทรวง ที่ไม่ใช่ความลับต่อความมั่นคงและข้อมูลส่วนบุคคล

ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ ที่อยู่ในทุกกระทรวงและหน่วยงานของรัฐเช่นสำนักงานที่ดิน สรรพากรเป็นต้น

ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลของตนเองได้ในองค์กรเอกชนเช่นธนาคาร โรงพยาบาล บริษัทประกันสุขภาพและประกันชีวิตและโรงเรียนอย่างคล่องตัว

ที่สำคัญคือเอสโตเนียประกาศเป็นนโยบายสำคัญว่า “ระบบราชการต้องเป็นเรื่องของอดีต” ซึ่งแปลว่าเขาจะไม่ยอมให้กฎเกณฑ์ล้าสมัยทั้งหลายมาเป็นอุปสรรคของการสร้างชาติ

ในแง่หนึ่ง เอสโตเนียก็เป็นประเทศค่อนข้างใหม่ เพราะเพิ่งจะแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเมื่อปี 1991 โดยที่รัฐบาลชุดแรกมีนายกรัฐมนตรีชื่อ Mart Laar อายุ 32 และรัฐมนตรีต่างประเทศอายุเพียง 26

เขามุ่งมั่นที่จะสร้างชาติใหม่ด้วยคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องการให้ “อดีต” มาเป็นภาระสำหรับการคิดและทำอะไรนอกกรอบ

ทุกวันนี้ทุกอย่างทำผ่านมือถือได้ แม้การขึ้นรถสาธารณะหรือการจ่ายค่าจอดรถตามมิเตอร์สาธารณะ ก็สามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวก

อเมริกาอาจจะมี Silicon Valley ที่เป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรม แต่เอสโตเนียทั้งประเทศคือ Silicon Valley

หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐกดดันคนต่างด้าวในประเทศมากขึ้น เป็นไปได้ว่าคนมันสมองชั้นเลิศที่เป็นต่างด้าวในซิลิคอน วัลเลย์ อาจจะอพยพไปอยู่เอสโตเนียอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพราะที่นั่นต้อนรับขับสู้คนเก่ง ๆ ด้วยมาตรการภาษีที่น่าสนใจ ประกอบกับบรรยากาศการทำงาน มีความเป็นมิตรต่อการสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลนี้มากกว่า

ผมคิดของผมเล่น ๆ ว่าถ้าประเทศไทยจะก้าวสู่ Thailand 4.0 (ขณะที่เอสโตเนียไปสู่ 5.0 แล้ว) อย่างจริงจัง ก็อาจจะต้องคิดอะไรนอกลู่นอกทางที่ฝรั่งบอกว่าต้อง break all the rules เสียก่อน

เช่นกำหนดจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งให้เป็น “เขตดิจิทัล” เหมือนเอสโตเนีย มีประชากรสัก 1 ล้านคนและลงมือสร้างให้เป็น Silicon Valley อย่างเต็มที่ ไม่ใช้กฎกติกาและระบบราชการที่คร่ำครึปัจจุบันเพื่อให้เป็น “ห้องทดลอง” ของจริง จะได้พิสูจน์กันเสียทีว่าคนไทยสามารถสร้างอะไรเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่เราเห็นในบางประเทศหรือเปล่า

ผมรู้ว่าผมกำลังฝันล้มๆ แล้งๆ

แต่ถ้าไม่กล้าฝัน ความจริงก็เกิดขึ้นไม่ได้...อย่างที่เห็นคลานต้วมเตี้ยมกันอยู่ทุกวันนี้