ต้องสู้จึงจะชนะ

ต้องสู้จึงจะชนะ

สังคมโลกไม่ได้ให้โอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงที่ต่างมีครอบครัวในการที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

ปัจจุบันผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มดุสิตธานี (บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านโรงแรมชั้นนำของประเทศไทย คือ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมารับตำแหน่งนี้ คุณศุภจีเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการหญิงคนแรกของบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ตั้งแต่อายุ 37 ปี และก้าวหน้าขึ้นไปอีกจนได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปรับหน้าที่ดูแลธุรกิจบริการของไอบีเอ็มใน 10 ประเทศอาเซียน (รวมทั้งประเทศไทย) จากนั้นคุณศุภจีก็ได้ลาออกมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จนกิจการของบริษัทดีขึ้นมาก จึงได้ตัดสินใจที่จะพัก แต่ในที่สุดก็ได้เข้ารับหน้าที่ที่ท้าทายความสามารถอีกครั้งหนึ่งกับกลุ่มดุสิตธานี

ผมได้เคยเข้าร่วมประชุมกับคุณศุภจีมาเป็นครั้งคราวตั้งแต่สมัยที่คุณศุภจียังทำงานอยู่ที่ไทยคม ซึ่งผมได้รับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายอยู่ด้วยในบางเรื่อง และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคุณศุภจีอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่มดุสิตธานี ในโครงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มีมูลค่าถึง 36,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโรงแรม อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้า ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลมและถนนพระราม 4 (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานีและอาคารข้างเคียงอื่นๆ) ซึ่งเป็นโครงการของกลุ่มดุสิตธานีที่มีบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมลงทุนด้วย

คุณศุภจีเป็นผู้บริหารที่มีความรู้และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีทักษะในการสื่อสารสูงมาก จนทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกเต็มอกเต็มใจที่จะเดินไปตามเป้าหมายที่คุณศุภจีกำหนดไว้ โดยไม่มีความรู้สึกถึงการใช้อำนาจบาตรใหญ่ใดๆ เลย

ผู้หญิงอะไรเก่งจัง น่าทึ่งและน่ายกย่องมาก ... ผมคิด

ถ้าเปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่าคุณศุภจีเป็นผู้ชาย ผมจะยังคงทึ่งและยกย่องมากขนาดนี้หรือไม่ ... ผมถามตัวเอง

ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของผู้หญิงที่ทำงานในบริษัทชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่ามีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงอยู่เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น และจากการสำรวจที่ทำขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 2000 พบว่าในบรรดาศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย Yale ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปในปีนั้น ศิษย์เก่าที่เป็นผู้ชายยังคงทำงานประจำอยู่ถึงร้อยละ 90 ในขณะที่ศิษย์เก่าที่เป็นผู้หญิงเหลือทำงานประจำอยู่เพียงร้อยละ 56 เท่านั้น และข้อมูลสำหรับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย Harvard ในการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2007 ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยศิษย์เก่าที่เป็นผู้หญิงซึ่งมีอายุ 40 ปีขึ้นไปยังคงทำงานประจำอยู่เพียงร้อยละ 49 เท่านั้น และเป็นที่เชื่อกันว่าหากมีการสำรวจใหม่ในปัจจุบัน ข้อมูลก็จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก
ผมไม่มีข้อมูลของประเทศไทย แต่จากมุมมองส่วนตัว ผมเชื่อว่าตัวเลขก็ไม่น่าจะสูงกว่าของประเทศสหรัฐอเมริกา

สังคมโลกไม่ได้ให้โอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงที่ต่างมีครอบครัวในการที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เพราะยังคาดหวังให้ผู้หญิงต้องทำหน้าที่หลักในการดูแลลูกและครอบครัวที่บ้าน และจะต้องถูกตำหนิหากหน้าที่ในส่วนนี้บกพร่อง หลายครอบครัวจึงตัดสินใจให้ผู้หญิงลาออกจากงานเพื่อมาทำหน้าที่ทางบ้าน ต้องละทิ้งความใฝ่ฝันในหน้าที่การงาน หรือหากไม่ลาออกจากงาน ผู้หญิงก็จะมุ่งมั่นกับงานประจำจนหน้าที่ทางบ้านเสียหายไม่ได้

ผมจึงรู้สึกทึ่งและยกย่องผู้หญิงที่มีครอบครัวและยังสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างสูงและมากกว่าระดับความทึ่งและยกย่องที่มีให้กับผู้ชาย

ผมเชื่อว่าผู้หญิงเก่งซึ่งได้พิสูจน์ตัวเองแล้วเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงความรู้ความสามารถและองค์ประกอบแห่งความสำเร็จอื่นๆ เท่าเทียมกับผู้ชายที่ประสบความสำเร็จในระดับเดียวกันเท่านั้น แต่ยังมีจิตวิญญาณที่พร้อมจะต่อสู้เพื่อไปตามความฝันที่เหนือกว่าผู้ชายด้วย เพราะนอกจากงานประจำแล้วยังต้องแบกรับหน้าที่ทางบ้าน (ซึ่งควรจะเป็นภาระร่วมกันของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง) ไว้แต่เพียงผู้เดียวตามความคาดหมายของสังคม รวมทั้งต้องรับหน้าที่ในการให้กำเนิดบุตรธิดาที่ธรรมชาติมอบให้ และทำหน้าที่เหล่านี้ให้ดีที่สุดควบคู่กันไปด้วย

I hope you find true meaning, contentment, and passion in your life. I hope you navigate the difficult times and come out with greater strength and resolve … [and] have the ambition to lean in to your career and run the world. (จากหนังสือ Lean In: Women, Work, and the Will to Lead โดย Sheryl Sandberg)