โจมตีไซเบอร์ ขีปนาวุธโลกใหม่

โจมตีไซเบอร์  ขีปนาวุธโลกใหม่

นอกจากธุรกิจจะถูกทลายกำแพงการค้าอย่างสิ้นเชิง จากความก้าวหน้าของโลกไซเบอร์

 ในยุคที่ทั้งโลกสามารถค้าขายกันผ่านปลายนิ้ว สั่นสะเทือนวงการค้า ประเภทที่ต้องมีหน้าร้านการค้า (ออฟไลน์) ชนิดที่บริษัทค้าปลีกระดับโลกยังต้องหันมารุกค้าปลีกออนไลน์กันขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น อเมซอน หรือ วอลมาร์ท ที่กระโจนลงมาเล่นในสนามการค้านี้ รวมถึงยักษ์ค้าปลีก ซัพพลายเออร์ของไทยหลายราย เรียกว่า ใครไม่เกาะติดเทรนด์ค้าออนไลน์ไม่เพียงตกยุค ยังถอยหลังเข้าคลอง ส่อสู่ความถดถอยทางธุรกิจ

โลกไซเบอร์ จึงเป็นความท้าทาย ทั้งโอกาส และความเสี่ยง ความสำเร็จและความล้มเหลว ในวันที่ทั่วโลกไม่อาจเลี่ยงกระแสนี้ ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์เฟื่องฟู การคีย์ข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟน แทนการขีดเขียนบนหน้ากระดาษหรือเคาะแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้อมูลที่ท่วมท้น (Big Data) จึงถูกเก็บสะสมไว้ในอากาศ (Server) ที่พร้อมจะถูกสืบค้นทั้งจากผู้ประสงค์ดี และประสงค์ร้าย หากมีช่องโหว่

การโจมตีผ่านโลกไซเบอร์ จากมัลแวร์ “วอนนาคราย” (WannaCry) เป็นตัวอย่างหนึ่งของปฏิบัติการเจาะข้อมูลของเหล่าแฮกเกอร์ ทำให้ผู้ใช้งานประสบปัญหาในการรับ-ส่งอีเมล์ และเปิดไฟล์แนบ สร้างความเสียหายแก่คอมพิวเตอร์แล้วกว่า 3 แสนเครื่อง ใน 150 ประเทศในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เศษ ก่อนที่แฮกเกอร์จะนำข้อมูลเหล่านั้นมา “เรียกค่าไถ่” แลกกับการไม่เปิดเผยข้อมูลซึ่งบางครั้งข้อมูลนั้นเป็นชั้นความลับสุดยอดทางธุรกิจที่จะสร้างความเสียหายอย่างมาก หากถูกเผยแพร่ออกไป โดยบรรษัทขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในเป้าโจมตีครั้งนี้

อาทิ สิ่งที่เกิดกับ “ดิสนีย์” สื่อบันเทิงรายใหญ่ของสหรัฐ ที่ออกมาระบุว่า กลุ่มแฮกเกอร์อ้างว่าเข้าถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของบริษัท และขู่จะนำภาพยนตร์นั้นออกเผยแพร่ทางออนไลน์ หากดิสนีย์ไม่จ่ายค่าไถ่ แม้ความเสียหายจะยังไม่ลามมาถึงไทย สะท้อนชัดถึง“ภัยร้าย”ในโลกไซเบอร์ ที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในสถานการณ์ตั้งรับ “ตกเป็นเหยื่อ” มากกว่าจะ“เท่าทัน”ปัญหา 

ความวิตกกังวลดังกล่าว แปลงเป็นรูปธรรมเมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ1ของโลก ต้องเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องฉุกเฉินเพื่อรับมือปัญหาการโจมตีจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ในวันเดียวกันกับที่ทางการ “เกาหลีเหนือ” ประกาศความสำเร็จทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นใหม่ “Hwasong-12W” ในภาวะที่สหรัฐ และเกาหลีเหนือ ขุ่นเคือง และกำลังเล่นบทบาทเดิมๆ ผู้หนึ่งต้องการทดสอบขีปนาวุธ ทำตัวเป็นวายร้ายในสายตาหลายประเทศ ขณะที่อีกฟากพยายามต่อต้านการทดสอบขีปนาวุธ ทำตัวเป็นผู้พิทักษ์โลก

ทว่า การป่วนโลกของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ บ่งบอกเราว่า สิ่งที่น่าสะพรึงกลัว กว่าการทดลองขีปนาวุธ ที่เหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังเดินหน้าทดสอบ คือภัยทำลายล้างจากโลกไซเบอร์ หากมีการพัฒนามัลแวร์อัจฉริยะขึ้นอีกระดับ แพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลารวดเร็ว ยากจะรับมือ

มัลแวร์เรียกค่าไถ่นี้ ยังถูกนำไปเชื่อมโยง กลายเป็นข้อกล่าวหาใหม่ของเกาหลีเหนือ ว่าอาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้หรือไม่อย่างไร ซึ่งจะว่าไปแล้ว “มัลแวร์” ก็คืออีกรูปแบบหนึ่งของการแสดงแสนยานุภาพ แต่เป็นแสนยานุภาพเทคโนโลยีในทางลบ ที่กระทบในวงกว้าง หาใช่ การใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ เข่นฆ่ากัน เหมือนในอดีต