เชื้อโรคเรียกค่าไถ่กับเมืองไทยยุค 4.0

เชื้อโรคเรียกค่าไถ่กับเมืองไทยยุค 4.0

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวโลกตื่นตระหนกจากเชื้อโรคเรียกค่าไถ่ ซึ่งถูกปล่อยเข้าไปในระบบอินเทอร์เน็ต

 ชาวโลกยังโชคดีที่มีผู้พบจุดอ่อนของเชื้อโรคตัวนี้ ก่อนที่มันจะทำความเสียหายร้ายแรงอย่างกว้างขวาง การใช้เชื้อโรคดิจิทัลเรียกค่าไถ่ในระบบอินเทอร์เน็ตเป็นเหตุการณ์ซึ่งอาจมองได้จากหลายแง่มุม แง่มุมสำคัญที่มักไม่ค่อยตระหนักกันได้แก่คำสาปของเทคโนโลยีซึ่งคอลัมน์นี้อ้างถึงหลายครั้ง เนื่องจากในช่วงนี้มีการพูดเรื่องเมืองไทยยุค 4.0 อย่างกว้างขวาง จึงขอย้อนไปดูยุคต่าง ๆ ว่าเทคโนโลยีมีคำสาปแฝงมาอย่างไร

ยุค 1.0 เกิดเมื่อราวหนึ่งหมื่นปีที่ผ่านมาหลังชาวตะวันออกกลางเรียนรู้วิธีปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ การเรียนรู้นั้นนำไปสู่การเกิดเกษตรกรรมซึ่งทำความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดเป็นครั้งแรกในสังคมมนุษย์ เกษตรกรรมทำให้ผลิตอาหารได้มากและแน่นอนขึ้น ส่งผลให้ผู้คนตั้งบ้านเรือนถาวรแทนการเร่ร่อนไปตามฤดูกาลเพื่อเก็บของป่าและล่าสัตว์ นอกจากนั้น มันยังทำให้ผู้คนมีเวลาค้นคว้าหาความรู้พร้อมกับมีเวลาทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

การมีคนมากขึ้นซึ่งมีเวลาและความรู้ใหม่ ๆ นำไปสู่การสร้างอารยธรรม หรือความรุ่งเรืองขึ้นในย่านตะวันออกกลาง ความรุ่งเรืองนั้นนำไปสู่การใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นรวมทั้งการตัดต้นไม้มาใช้ในการก่อสร้างและเผาเป็นพลังงาน หลังเวลาผ่านไป จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าระดับที่ทรัพยากรจะสนับสนุนได้ส่งผลให้เกิดสงครามสองด้าน นั่นคือ สงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์โดยใช้อาวุธจำพวกหอกดาบที่ทำได้ในยุคนั้นแย่งชิงทรัพยากรกัน และสงครามระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเมื่อระบบนิเวศขาดสมดุลอย่างร้ายแรงจนพื้นดินกลายเป็นทะเลทราย ผลสุดท้ายคือความล่มสลายของอารยธรรม

ยุค 2.0 เกิดหลังมีการประดิษฐ์เครื่องจักรกลขึ้นใช้แทนแรงงานคน แรงงานสัตว์และแรงงานในธรรมชาติจำพวกกระแสน้ำและกระแสลมเมื่อราว 260 ปีที่ผ่านมา ตามด้วยการพบยาชนิดต่าง ๆ และเทคโนโลยีที่เกิดจากการแตกอะตอม หรือปรมาณู เทคโนโลยีใหม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเครื่องจักรกลทำให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมและพาหนะขนส่งขนาดยักษ์ นอกจากนั้น มันยังทำให้ผู้คนมีสุขภาพดีและมีอายุยืนยาวขึ้นส่งผลให้จำนวนคนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย เทคโนโลยีของยุคนี้มีคำสาปร้ายแรงซึ่งแสดงออกมาให้เห็น เมื่อการแย่งชิงทรัพยากรเพิ่มความเข้มข้นจนนำไปสู่การใช้อาวุธปรมาณู

ยุค 3.0 เพิ่งเกิดเพียงไม่กี่สิบปีหลังเทคโนโลยีดิจิทัลนำไปสู่การทำเครื่องมือใหม่ ๆ หลายอย่างรวมทั้งคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีนี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดเป็นครั้งที่ 3 จากการเชื่อมต่อกันของระบบสื่อสารเป็นโครงข่ายในนามของระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งเอื้อให้การส่งข่าวสารข้อมูลทำได้ภายในพริบตาไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของโลก การเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้รวดเร็วนี้มีผู้มองว่าสังคมโลกจะพัฒนาได้อย่างลื่นไหลจนทำให้เกิดความเท่าเทียมกันอย่างทั่วถึง แต่หลังเวลาผ่านไปไม่นาน ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ชี้ชัดว่าการพัฒนามิได้เป็นไปในแนวนั้น ตรงข้าม ความเหลื่อมล้ำกลับทวีความเลวร้ายพร้อม ๆ กับการลดลงของความปลอดภัยในทุกภาคส่วนของโลกเพราะปัญหาหลายอย่างรวมทั้งจากอาวุธปรมาณู จากภาวะโลกร้อนและจากคนไร้คุณธรรมจำพวกที่ปล่อยเชื้อโรคเรียกค่าไถ่เข้าไปในระบบอินเทอร์เน็ตอันเป็นวิธีแย่งชิงทรัพยากรอย่างหนึ่ง

ณ วันนี้ โลกตกอยู่ในสภาพเดียวกับย่านตะวันออกกลางเมื่อหลายพันปีก่อนทั้งที่ยังไม่เข้ายุค 4.0 ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดครั้งที่ 4 ในยุคนี้ ผู้คนจะมีอายุยืนยาวขึ้นอีกโดยบางคนจะไม่ตายเพราะสามารถถอดแบบร่างกาย (Cloning) ได้อย่างต่อเนื่อง โลกใบนี้จะมีคนเพิ่มขึ้นต่อไปในขณะที่ทรัพยากรร่อยหรอลงส่งผลให้การแย่งชิงจะยิ่งเข้มข้น การแย่งชิงกันนี้จะใช้วิธีหลากหลายรวมทั้งการเรียกค่าไถ่ด้วย ส่วนอาวุธที่ใช้จะร้ายแรงยิ่งกว่าเชื้อโรคดิจิทัลในระบบอินเทอร์เน็ต

ในขณะที่ความปลอดภัยกำลังลดลง คนไทยดูจะพูดตาม ๆ กันไปในแนวที่เคยพูดถึง NIC โดยไม่ตระหนักสักดิดว่ายุค 4.0 จะมีคำสาปอย่างไร สภาพการณ์นี้จึงมีแต่ลบกับลบ