ปรับยุทธศาสตร์ สร้าง'ปรองดอง'

ปรับยุทธศาสตร์  สร้าง'ปรองดอง'

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 พูดถึงการเตรียมแถลงผลงาน 3 ปีรัฐบาลและคสช.ว่าได้ทำไปแล้วหลายเรื่อง และอีกหลายเรื่องได้วางแนวทางไว้ให้รัฐบาลต่อไปมาดำเนินการต่อ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ายังมีอีกบางเรื่องไม่เป็นไปตามความตั้งใจ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ที่จะต้องกระทบคนจำนวนหนึ่ง เรื่องดังกล่าวถูกมองว่าหมายถึงการสร้างความเป็นอยู่พื้นฐานที่ดีให้กับประชาชน รวมไปถึงการ“ลดความเหลื่อมล้ำ” ที่จะนำไปสู่การสร้างความ“ปรองดอง”

แม้การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวจะถูกดำเนินการอย่างเป็น“รูปธรรม” ด้วยการรับฟังความคิดเห็นจากคู่ขัดแย้งในอดีตทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง มีการรับฟังความเห็นในระดับจังหวัดโดยเชิญตัวแทนหลายกลุ่ม ทั้งนักการเมืองท้องถิ่น ตัวแทนกลุ่มชาวบ้าน ภาคประชาชน มาร่วมพูดคุยกัน และมีข่าวออกมาในทำนองว่าการพูดจากันเป็นไปด้วยบรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัย จนนำมาสู่การประมวลความคิดเห็น และกำลังจะสรุปเป็นข้อเสนอเพื่อให้เกิดการทำ“สัญญาประชาคม”ในเดือนมิ.ย.นี้

แต่ข้อเท็จจริงก็เป็นที่ประจักษ์อยู่ว่าแม้จะมีการนำเสนอความคิดอย่างกว้างขวาง แม้ว่าทุกฝ่ายจะบอกว่ายินดีที่จะร่วมสร้างความปรองดอง แต่ภาพที่ออกมาส่วนหนึ่งก็เป็นเพียง“กระแส” และแนวคิดที่ถูกนำเสนอก็“กระจัดกระจาย” จนเป็นเรื่องยากยิ่งที่ข้อสรุปจะออกมาเป็นที่พอใจ เป็นที่ยอมรับ หรือตรงตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายที่เคยได้มาร่วมพูดคุยกัน เพราะเพียงในเบื้องต้นก็ยังไม่มีใครเห็นด้วยอย่างเต็มอกเต็มใจ ในการที่จะให้ร่วมลงนามเป็นพันธสัญญา ทั้งที่ต่างก็รู้ว่าในความเป็นจริงก็ไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติ

ขณะเดียวกันบนพื้นฐานที่รัฐบาลตั้งใจให้ยุติความ“ขัดแย้ง”ในบ้านเมือง ความเป็นจริงก็ยังเห็นว่าฝ่ายการเมือง ที่เป็น“ตัวแปร”สำคัญในการสร้างความปรองดอง ยังคงมีท่าทีต่อกันอย่างคู่ขัดแย้ง ไม่ได้มีการลดราวาศอก หรือผ่อนเบาลงไปจากเดิม ดังจะเห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของแต่ละฝ่าย ที่หลายเรื่องไม่น่าเชื่อว่าจะเห็นต่างกันได้อย่าง“ขาว”กับ“ดำ”รวมทั้งยังมีการตำหนิติติงกันทุกครั้งที่สบโอกาส ไม่เว้นรัฐบาลหรือคสช.เองก็ตกเป็นเป้าของบางกลุ่มอยู่เสมอ จนทำให้เชื่อยากว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริง

บางกลุ่มเรียกกระบวนการนี้ว่า“การปรองดองของทหาร” อันหมายถึงความไม่เห็นด้วยกับกระบวนการ ที่มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นเจ้าภาพหลักและไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมในการจัดการ ดังที่มีเสียงคัดค้านอยู่พอสมควรในช่วงแรก เป็นบรรยากาศการพูดคุยที่คล้ายกับการเข้ารายงานตัวหลังการรัฐประหาร และอาจเป็นความขัดแย้งในใจสำหรับบางกลุ่มที่“สูญเสีย”และพยายามกล่าวอ้างว่าไม่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับกระบวนการใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบประชาธิปไตย

แน่นอนว่าการยุติความขัดแย้งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะเป็นเหตุผลหลักในการเข้ายึดอำนาจ แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นเรื่องที่มองเห็นความสำเร็จน้อยกว่า“ผลงาน”หลายเรื่องของรัฐบาล ด้วยเวลาที่เหลืออยู่สั้นๆ รัฐบาลและคสช.คงต้องคิดให้หนักและต้องปรับ“กระบวนทัศน์”ในการสร้างความปรองดอง วันนี้ความพยายามให้คนที่“เกลียดชัง”กัน หันกลับมากลมเกลียวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก หากรัฐบาลจะเน้นไปที่การวางกฎ กติกา ไม่ให้เกิดการออกมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองได้อีก ยังจะพอมองเห็นความเป็นไปได้มากกว่า