ไขรหัสเส้นทางสายใหมยุคใหม่

ไขรหัสเส้นทางสายใหมยุคใหม่

เมื่อวันที่ 14-15 พ.ค.ที่ผ่านมา จีนได้จัดประชุมเวที “เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ยุทธศาสตร์

หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road -OBOR) โดยมีผู้แทนจาก 110 ประเทศและผู้นำ 29 ประเทศเข้าร่วมประชุม ณ กรุงปักกิ่ง นับได้ว่าเป็นงานใหญ่ที่มีผู้นำโลกเข้าร่วมมากที่สุดรองจากพิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพเมื่อปี ค.ศ. 2008 เลยทีเดียว

เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) เป็นการพัฒนาและสร้างความเชื่อมโยงผ่านเส้นทางสองสาย ได้แก่

เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) หรือชื่อย่อว่า One Belt เชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลาง คอเคซัส รัสเซีย ยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง และยุโรปตะวันตก

เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road) หรือชื่อย่อว่า One Road ตามเส้นทางเดินเรือในอดีตที่เชื่อมจีนเข้ากับเกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย บังคลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน อิหร่าน และตะวันออกกลาง เข้าไปในทะเลแดง สิ้นสุดที่ตุรกีและทะเลเมดิเตอเรเนียน หรืออาจไปต่อทางมหาสมุทรอินเดีย ทะลุไปถึงแอฟริกา

แม้ดูจากเส้นที่ลากเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเลตามแผนที่ จะไม่ได้ผ่านไทยโดยตรง แต่แผนการยุทธศาสตร์ฉบับทางการของจีนนั้น คลอบคลุมประเทศใกล้เคียงตามแนวเส้นทางรวมถึง 65 ประเทศ ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย โดยไทยอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor (CICPEC)) ซึ่งรวมลาว เวียดนาม กัมพูชา และเป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจย่อย ภายใต้ยุทธศาสตร์สายไหมใหม่ของจีน

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ แม้นายกฯ ประยุทธ์จะไม่ได้เดินทางไปร่วมงาน แต่ก็มีรัฐมนตรีจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องของไทยเข้าร่วมประชุมถึง 6 ท่าน กระทรวงการต่างประเทศของไทยแจ้งว่า นายกฯ ประยุทธ์ จะเดินทางเข้าร่วมการประชุม BRICS Summit หรือการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศบราซิล (B) รัสเซีย (R) อินเดีย (I) จีน (C) และประเทศพัฒนาอื่นๆ (S) ที่เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยนในเดือนกันยายนแทน

ในบทความนี้ ผมอยากให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน 3 ประเด็น ดังนี้

หนึ่ง ยุทธศาสตร์นี้สะท้อนบทบาทใหม่ของจีนในเวทีโลก โดยจีนต้องการจะก้าวขึ้นมาเล่นบทรุกและเป็นผู้นำในเวทีนานาชาติมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างเวทีและกลไกความร่วมมือของตนเอง แทนที่จะเข้าร่วมกับกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศที่จัดตั้งโดยประเทศตะวันตก

เติ้งเสี่ยวผิง เคยบอกว่า ในขณะที่จีนยังยากจนอยู่ ต้องเน้นพัฒนาประเทศเป็นอันดับแรก อย่าเพิ่งยุ่งกับการเมืองระหว่างประเทศ ต่อมาในสมัยประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินและหูจินเทา นโยบายต่างประเทศของจีนเริ่มเน้นเชื่อมโยงจีนเข้ากับโลกภายนอกมากขึ้น แต่เป้าหมายหลักเพื่อสนับสนุนการพัฒนาภายในของจีนเอง เช่น ให้จีนเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก (WTO) และเชื่อมจีนเข้ากับ ASEAN เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุน แต่มาถึงวันนี้ สีจิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบัน ต้องการสื่อสารว่าจีน “พร้อมแล้ว” และ “เริ่มรวยแล้ว” ที่จะเล่นบทผู้นำสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาของประเทศพันธมิตรในภูมิภาค

ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ต้องการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและธุรกิจภายในภูมิภาคเอเชีย และเชื่อมต่อถึงยุโรปและแอฟริกา โดยจีนจะเป็นผู้นำ เพื่อให้มาคานกับพลังทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงระหว่างยุโรป – สหรัฐฯ ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ

ในขณะที่สหรัฐฯ ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีทรัมป์ เน้นนโยบายชาตินิยม “America First” และต่อต้านโลกาภิวัฒน์ จีนกลับเดินเกมสร้างภาพเป็นผู้นำสนับสนุนโลกาภิวัฒน์และส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแทน สุนทรพจน์ของสีจิ้นผิงในเวทีที่กรุงปักกิ่งที่ผ่านมา เป็นสุนทรพจน์ใหญ่ต่อจากสุนทรพจน์อันลือลั่นของเขาในการประชุม World Economic Forum ที่กรุงดาวอส เมื่อต้นปี

สอง ยุทธศาสตร์นี้เป็นกรอบความคิดที่ยืดหยุ่น โดยที่เนื้อหาโครงการลงทุนภายใต้กรอบ รวมทั้งวิธีดำเนินการมีความยืดหยุ่น ไม่ได้มีการกำหนดโครงการใดหรือรูปแบบใดเป็นการตายตัว

นักรัฐศาสตร์จีนมักอธิบายว่า ประเทศหลายประเทศเข้าใจผิดคิดว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน หมายความว่าจีนจะเอาเงินไปแจกให้กับโครงการต่างๆ ภายในประเทศเหล่านั้น หรือจีนจะคิดโครงการต่างๆ ขึ้นมาทั้งหมดเอง เหล่านี้ล้วนเป็นความเข้าใจผิด เพราะยุทธศาสตร์นี้เป็นเพียงกรอบความคิดกว้างๆ ในความเป็นจริง ประเทศตามเส้นทางจะต้องเจรจาและปรึกษาหารือกับจีน เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการทางเศรษฐกิจที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (ยิ่งในมุมของจีน ถ้าจีนจะลงทุน จะต้องมีประโยชน์กับจีน) โดยโครงการส่วนใหญ่ที่จีนสนใจมักเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ถนน ท่าเรือ (เน้นสร้างความเชื่อมโยงทางคมนาคม) โครงการด้านพลังงาน หรือโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แหล่งเงินทุนของโครงการก็มีที่มาได้หลากหลาย โดยอาจใช้เงินทุนจากกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ของรัฐบาลจีน ซึ่งมีอยู่ 40,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เงินจากธนาคารนโยบายสองแห่งของจีน ได้แก่

China Development Bank และ EXIM Bank of China นอกจากนั้นยังมีองค์กรระหว่างประเทศสองแห่งที่จีนจัดตั้งขึ้น ได้แก่ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ในปักกิ่งซึ่งมีทุน 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และ New Development Bank (NDB) ในเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีทุน 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ นอกเหนือจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ของจีนเองก็อาจเข้าร่วมปล่อยสินเชื่อในโครงการลงทุนที่มีแนวโน้มจะได้ผลตอบแทนที่สูง

สาม ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาภายในของประเทศจีนเองด้วย การที่จีนลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการเอาทุนสำรองมหาศาลของจีนไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เช่นในอดีต ทั้งยังจะเป็นการสร้างตลาดใหม่ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน เช่น บริษัทพัฒนารถไฟความเร็วสูง หรือบริษัทก่อสร้างของจีน ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยแก้ไขปัญหาการผลิตเกินตัวของจีน เช่นในอุตสาหกรรมซีเมนต์ และเหล็กกล้า โดยทำให้จีนสามารถส่งออกวัตถุดิบเหล่านี้เพื่อใช้ในการก่อสร้างในประเทศอื่นได้

ในภาพยุทธศาสตร์โดยรวมของประเทศ ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม ถือเป็นยุทธศาสตร์ชายแดนของจีน โดยเน้นการเชื่อมโยงเมืองใหญ่และมณฑลชายแดนของจีนเข้ากับเมืองใหญ่และขุมพลังทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะการเชื่อมซินเจียงและธิเบตเข้ากับเอเชียกลางและยุโรป เชื่อมมณฑลตอนใต้เข้ากับอาเซียน ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีลักษณะเดียวกับยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงขุมพลังทางเศรษฐกิจในพื้นที่อื่นของประเทศ อันได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ Jing-Jin-Ji ซึ่งมีหัวใจคือปักกิ่ง เชื่อม 13 เมืองในปักกิ่ง เหอเป่ย เทียนจิน (2) ยุทธศาสตร์ Yangtze River Delta ซึ่งมีหัวใจคือเซี่ยงไฮ้ เชื่อม 16 เมือง และ (3) ยุทธศาสตร์ Pearl River Delta ซึ่งหัวใจอยู่ที่กวางเจา เชื่อม 11 เมือง

ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เน้นเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้ ก็ยังจะเป็นข้ออ้างให้จีนเข้ามาเดินเกมรักษาผลประโยชน์ของตนในทะเลจีนใต้ รวมทั้งผลักดันข้อเรียกร้องของจีนเกี่ยวกับทรัพยากรในทะเลจีนใต้อีกด้วย