โลกตะลึง ...สตรีหมายเลข 1 ฝรั่งเศส!

โลกตะลึง ...สตรีหมายเลข 1 ฝรั่งเศส!

โฉมหน้าใหม่สตรีหมายเลข 1 ฝรั่งเศส กำลังจะมาถึงแล้ว ด้วยฝีมือของประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศสนาย เอมมานูเอล มาครง

 ผู้อายุอ่อนกว่าภรรยา บริจิตต์ โทรเญอซ์ ถึง 24 ปี

  หากยังต้องรอดูกันว่าประธานาธิบดีคนใหม่ จะสามารถคืนความมั่นใจให้คนฝรั่งเศสที่กำลังใจเสียมานานหลายปี ฟื้นเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งเป็นมหาอำนาจเช่นเดิม ทำให้ประเทศได้เจริญเติบโตขึ้นใหม่อีกทุกด้าน ดังที่ประกาศในวันรับตำแหน่งเมื่อ 14 พ.ค.นี้ได้หรือไม่ ประธานาธิบดีอายุ 39 หนุ่มสุดๆที่มีเมียแก่อายุ 64 นี่แหละที่กำลังจะมาเปิดหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ให้กับผู้หญิงฝรั่งเศส เขามีเจตนารมณ์ชัดเจน เปิดเผย โปร่งใสต่อสาธารณะตั้งแต่ยังเป็น “ว่าที่” ซึ่งเมื่อได้พูดแล้วก็ต้องทำ

ในรายชื่อผู้สมัครส.ส.ที่เพิ่งจะเสนอซึ่งยังไม่ครบจำนวน 577 คน สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือนมิถุนายนนี้ ด้วยเจตนาของเขาที่ประกาศว่าต้องการเห็นเวทีการเมือง หลุดพ้นไปจากโฉมหน้าเก่าๆ ของนักการเมืองสองพรรคใหญ่ที่เวียนว่ายตายเกิดกันจนแก่ พรรคเรปูบลิกอองมาร์ช (La Republique En Marche- สาธารณรัฐเดินหน้า ที่เพิ่งจะสถาปนาขึ้นจากชื่อขบวนการเดินหน้า En Marche ที่ใช้มาก่อน) นอกจากจะมีผู้สมัครหน้าใหม่อายุช่วง 28-70 ไม่เคยลงเลือกตั้ง มีผู้สมัครที่มาจากกลุ่มประชาสังคมด้านต่างๆเช่น นักสหกรณ์เกษตรกร แชมป์คณิตศาสตร์ มีผู้สมัครหญิงมากขึ้นเทียบกับแต่ก่อน เพราะนโยบายของนายมาครงที่ต้องการเสนอรายชื่อผู้สมัครส.. ที่จำนวนหญิงชายเสมอกัน

การสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านสิทธิเสมอภาคน่าจะส่งผลต่อไปในระยะยาวไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะหากตัวเลือกโดนใจได้รับเลือกตั้ง นับว่านายมาครงได้มาทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำทั้งๆที่ถึงเวลาและล่าช้าไปแล้วด้วยซ้ำ ที่จะกระตุกให้คนฝรั่งเศสทั่วๆไปได้รู้อย่างเป็นการกระทบใจแรงๆว่าละเลยไม่ทำสิ่งนี้มาตั้งนานได้อย่างไร ที่สำคัญคือกระทำอย่างเปิดเผยและในวงกว้างทันทีทันใดไม่ต้องใช้เหตุผลอธิบาย ว่าในการสรรหาผู้สมัครเป็นส.ส.ของพรรค มีผู้หญิงอีกครึ่งโลกให้เลือก ไม่จำกัดอยู่แต่ครึ่งโลกที่เป็นผู้ชาย

ตั้งแต่เป็น “ว่าที่” ประธานาธิบดี ได้ประกาศก้องว่า ต่อนี้ไป ภรรยาจะอยู่เคียงข้างในชีวิตการเป็นประธานาธิบดีเหมือนที่เธอเคยอยู่เคียงข้างเขามาตลอด ความสำคัญของเธอที่ทำให้เขาเป็นเขาได้ในวันนี้จะมาหายไปได้อย่างไร “เราต้องหลุดออกไปจากการทำอะไรที่มันไม่ตรงกับความเป็นจริงแบบสังคมฝรั่งเศสไปได้แล้ว” (Il faut sortir de l’hypocrisie francaise.) เธอจะต้องมีบทบาทหนึ่ง(un role) มีพื้นที่มีตำแหน่งแห่งที่(uneplace) ในชีวิตประธานาธิบดีของเขา ซึ่งจะต้องคิดวางรูปแบบกัน โดยจะไม่มีเงินค่าตอบแทน

คงโดนใจผู้หญิงที่เป็นเมียอีกมาก สิ่งที่นายมาครงพูด โดยเฉพาะ “สตรีหมายเลข 1” ของสามีผู้มีบทบาทมีตำแหน่งในสังคม เช่นทางการเมือง ซึ่งตลอดมาไม่เคยมีใครพูดถึงความเป็นจริงนี้อย่างเปิดเผย ทั้งที่เห็นชัดว่ามีอะไรอยู่ในกอไผ่

ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนก่อนๆทั้งค่ายอนุรักษนิยมและค่ายสังคมนิยม ไม่เคยแตะเรื่องใดในสถานภาพของสตรีหมายเลข1 ซึ่งไม่มีเกณฑ์ใดแน่ชัด นอกจากปรากฏตัวเคียงข้างประธานาธิบดีในงานทางการตามธรรมเนียม บ้างก็จับงานด้านเด็ก บ้างก็ด้านบรรเทาทุกข์สาธารณภัย หรืออาจไม่ต้องจับงานใดทางสังคมใด แต่ทำงานหนังสือพิมพ์ หรือเป็นนักร้องเหมือนเดิม ก็ไม่มีใครว่า

ในจุดอ่อนไหวต่อชีวิตสาธารณะ เช่น อายุที่ห่างกันมาก ความรักฉันหนุ่มสาวระหว่างครูกับนักเรียนโดยเฉพาะฝ่ายหนึ่งยังอยู่ในชั้นมัธยม นายและนางมาครง ได้ยืนหยัดเผชิญมามากด้วยกัน เป็นฝ่ายเปิดเรื่อง“รักต้องห้าม” กับสื่อและสาธารณชนอย่างควบคุมมีทิศทางก่อนจะมีเสียงซุบซิบแคะไค้ ทั้งเรื่องทั้งภาพชีวิตครอบครัวของคนทั้งสองมีเผยแพร่ตั้งแต่สมัยนายมาครงเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ขนาดภาพเธอในชุดว่ายน้ำวันพีชบนชายหาดกับสามีใส่ขาสั้นก็มีให้ชมแล้ว นับว่าแผนประชาสัมพันธ์ได้ผลดียิ่ง

บริจิตต์แต่งกายเก๋ทันสมัย รูปร่างเพรียวงาม รู้จุดเด่นว่าขาและน่องสวยจึงเลือกสวมกระโปรงสั้นเหนือเข่า รองเท้าส้นสูงเรียวแหลม สวมกางเกงแนบขา ใส่กางเกงหนังแบบสาวรุ่น ถึงจะมีใครค่อนแคะบ้างไม่ว่าเรื่องไหน เธอบอกว่าอยู่กับนายมาครงทำให้รู้จักเลือกฟังสิ่งที่สร้างสรรค์ทางบวก

ธรรมเนียมสื่อฝรั่งเศสตามปกติไม่ขุดคุ้ยชีวิตส่วนตัวของผู้นำประเทศ ‘เคารพ’ ความเป็นส่วนตัว มีบ้างก็เบาๆ เช่น รักนอกทำเนียบของอดีตประธานาธิบดีนายฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์ ชีวิตหลายเมียคนนี้เข้าคนโน้นออกของนาย นิโคลาส์ ซาร์โคซี รวมทั้งนายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งไป ต่างจากสังคมตะวันตกอื่นๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ ที่คงจะเล่นกันหนัก

หากวางตัวให้ดีอย่างเดิม นายและนางมาครง คงจะปลอดจากการถูกแคะถูกค่อนชีวิตส่วนตัว มีเวลามีแรงคิดสร้างสรรค์อย่างอื่นด้วยกันในบทบาทใหม่พร้อมๆกันซึ่งทั่วโลกจับตารอดูอยู่อย่างสนใจใคร่รู้

เศรษฐกิจฝรั่งเศสใหญ่อันดับ 5 ของโลก นอกจากเป็นประเทศเจ้าของคำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ” และคำประกาศสิทธิมนุษยชนที่ให้แรงบันดาลใจไปทั่วโลก หญิงฝรั่งเศส โอแลมป์ เดอ กูช เป็นคนเขียนคำประกาศสิทธิมนุษยชนสตรีให้แก่โลก ค..1791 เมื่อเห็นว่าคำประกาศสิทธิมนุษยชนหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค..1789 ไม่ได้ส่งผลถึงผู้หญิง แต่น่าเศร้าที่เธอถูกบั่นคอด้วยกิโยตินเมื่อปี 1793 อายุเพียง 45 ปี โดยกลุ่มทรราชย์ครองเมืองหลังการปฏิวัติ