ภาษีขายของออนไลน์ จัดการอย่างไรให้เสียน้อยที่สุด

ภาษีขายของออนไลน์ จัดการอย่างไรให้เสียน้อยที่สุด

ภาษีขายของออนไลน์ จัดการอย่างไรให้เสียน้อยที่สุด

วันนี้ใครใครก็อยากขายของออนไลน์ หลายคนกลางวันทำงานประจำ ตกเย็นกลับบ้านแพ็คของ กด App ตั้งเวลาเรียกแมสมารับของส่งให้ลูกค้าพรุ่งนี้เช้า

ยุคออนไลน์นี้นอกจากจะสะดวกทั้งคนซื้อและคนขายแล้ว ยังสะดวกกับคนตรวจภาษีอีกด้วย ถ้าเป็นเมื่อก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจภาษี ต้องขับรถมาหน้าร้านนับชามก๋วยเตี๋ยวกัน ตรวจภาษีบริษัทนึงต้องมีเกือบครึ่งวัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง นั่งโต๊ะเปิด Facebook Intagram ของแม่ค้าพ่อค้าทั้งหลาย ดูสถิติ Engagement คูณด้วยค่าเฉลี่ยราคาสินค้าในเพจ แล้วคูณอัตราขายได้โดยประมาณ ออกมาเป็นประมาณการรายได้และเทียบกับจำนวนภาษีที่แจ้งไว้ หากแตกต่างกันมากก็ส่ง E-mail ขอพบคุณแม่ค้าเสร็จภายในไม่กี่นาที ยิ่งยุค “Big Data” นี้การพัฒนาระบบคัดกรองการตรวจจับอัตโนมัติให้แม่นยำและรวดเร็วขึ้นนั้นทำได้ไม่ยากแล้ว

ในเมื่อการตรวจจับง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ใครยังคิด “หนีภาษี” คงต้องคิดใหม่นะครับ เพราะหากตรวจเจอจะโดน “เงินเพิ่ม” และ “เบี้ยปรับ” อุตลุด เพราะ “เงินเพิ่ม” มีอัตราที่ 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่ายนับจากวันที่พ้นกำหนดให้ยื่นภาษี จนถึงวันที่จ่ายครบ (โดยเงินเพิ่มจะไม่เกินค่าภาษี) และ “เบี้ยปรับ” กรณีไม่ยื่นภาษีภายในวันที่กำหนดจะมีค่าปรับถึง เท่าของเงินภาษีที่ต้องจ่าย และหากยื่นภายในเวลาแต่ยื่นไม่ครบจำนวนภาษี จะมีเบี้ยปรับ เท่าของเงินภาษีที่ยื่นไม่ครบ เช่นหากมีภาษีที่ต้องเสีย 100,000 บาท และหนีภาษีเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่ได้ทำการยื่นเลย จะต้องเสียทั้งตัวภาษี 100,000 บาท บวกเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีก 218,000 บาท

ภาษีที่เกี่ยวข้องกับชาวออนไลน์ก็จะมี (1) ภาษีเงินได้ (แบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ขึ้นกับเลือกประกอบกิจการรูปแบบใด) และ (2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยกิจการที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเกิน 1.8 ล้านต่อปี ไม่ว่าจะทำในแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ก็ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

การขายของออนไลน์ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทซื้อมาขายไป ซึ่งถ้าทำธุรกิจในแบบบุคคลธรรมดา จะถือเป็นเงินได้บุคคลธรรมดาประเภท 40(8) ต้องยื่น ภ.ง.ด.90 (ตอนสิ้นปีภาษี) และ ภ.ง.ด.94 (ตอนกลางปี) เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้ (ต้องเก็บใบเสร็จเป็นหลักฐาน) ซึ่งก็วางแผนภาษีและหักค่าลดหย่อน เช่น ประกันชีวิต LTF/RMF ได้ตามปกติ จากนั้นก็นำรายได้หลังหักค่าลดหย่อนมาคำนวณตามอัตราภาษีบุคคลธรรมดาซึ่งมีอัตราระหว่าง 0%-35% 

ส่วนใครเลือกทำในรูปแบบนิติบุคคลกรณีที่ทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท หรือที่เรียกกันว่า “นิติบุคคลแบบ SME” ก็จะมีอัตราภาษีระหว่าง 0%-20%

เมื่อคำนวณเปรียบเทียบกันจะเห็นว่าจุดตัดที่จะเสียภาษีเท่ากันระหว่างทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลอยู่ที่รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายที่ 800,000 บาทต่อปี ซึ่งจะเสียภาษี 75,000 บาทเท่ากัน เงินได้ที่มากกว่าจุดนี้ขึ้นไป การทำธุรกิจรูปแบบนิติบุคคลจะเสียภาษีน้อยกว่ารูปแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งหากใครตัดสินใจทำธุรกิจแบบนิติบุคคลต้องอย่าลืมบวกต้นทุนการทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายต่างๆ เข้าไปด้วย จึงจะทราบจุดคุ้มทุนที่แท้จริงของการเปลี่ยนจากบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล 

กฎหมายใหม่ล่าสุดเปิดโอกาสให้นิติบุคคลที่ทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทนี้ นำค่าจดทะเบียนบริษัท ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า

หากใครตัดสินใจทำธุรกิจในแบบนิติบุคคล การดึงเงินออกมาใช้จ่ายส่วนตัว ก็ออกเงินเดือนให้ตัวเองและหุ้นส่วน คำถามที่ตามมาบ่อยๆ คือจะมีเทคนิคการตั้งเงินเดือนเท่าไร ที่ทำให้การเสียภาษีบุคคลธรรมดาจากเงินเดือนที่ดึงออกมา และนำเงินจำนวนนี้ไปหักออกจากรายได้ของบริษัทก่อนนำไปคำนวณภาษีนิติบุคคลแล้วทำให้คำนวณออกมาประหยัดภาษีได้มากที่สุดทั้งระบบ ติดตามกันต่อในคอลัมน์ “ติดลมบนกับ ดร.เรือบิน” ครั้งต่อไปครับ