ทำความรู้จัก "โอทีที วีดิโอ และโอทีที ทีวี ”

ทำความรู้จัก "โอทีที วีดิโอ และโอทีที ทีวี ”

ผู้ให้บริการ โอทีทีเหล่านี้ คือ digital disruptor ที่กำลังก้าวขึ้นมาท้าทายผู้เล่นหน้าเก่าในอุตสาหกรรม และบังคับให้ผู้เล่นรายเดิมต้องปรับตัว

เราคงปฎิเสธไม่ได้ว่ากระแสของวิดีโอ ประเภทโอทีที (OTT) และทีวี ประเภทโอทีทีได้เข้ามาในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น เน็ตฟลิกซ์ ไอฟลิกซ์ ฮุค ไพร์ม ไทม์ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งประเภทที่ต้องเสียเงินเพื่อใช้บริการและประเภทฟรี ขณะเดียวกันผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเองก็เริ่มให้บริการโอทีทีเช่นกัน ทั้งเฟซบุ๊ค ไลน์ ฯลฯ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า โอทีที คืออะไร โอทีทีย่อมาจาก โอเวอร์-เดอะ-ท็อป (over-the-top) ซึ่งคือบริการใดๆ ที่ให้บริการบนดาต้าเน็ตเวิร์ค ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 3จี 4จี ไวไฟ เราอาจจะแบ่งลักษณะการให้บริการของโอทีทีได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ประเภทให้บริการด้านการสื่อสาร (ไลน์ เฟซบุ๊ค แมสเซ็นเจอร์ สไกป์) ประเภทคอนเทนท์ (ยูทูบ เน็ตฟลิกซ์ ไลน์ทีวี )

ดังนั้นโอทีทีทั้งประเภทวีดีโอ และทีวีจัดอยู่ในโอทีที ประเภทคอนเทนท์ ถ้าเราพิจารณาโอทีที วีดิโอที่ยาวกว่า 10 นาที หรือที่เรียกว่า Long form OTT video จะมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทมีโฆษณา (Ad supported) เช่น ไลน์ทีวี ประเภทจ่ายค่าบริการ ซึ่งแบ่งได้ ดังนี้ ประเภทวิดีโอออนดีมานด์ (Video on demand) คือ ต้องทำการสมัครสมาชิก เพื่อใช้บริการอาจจะคิดเงินเป็นรายเดือน หรือจ่ายเงินเป็นเรื่อง เช่น เน็ตฟลิกซ์ ไอฟลิกซ์ ฮุค

ประเภทส่งตรงถึงผู้รับชม (Direct to consumer) คือ ต้องทำการสมัครสมาชิก เพื่อดูรายการเฉพาะ เช่น ถ่ายทอดสดฟุตบอล หรือกีฬาอื่น ประเภททีวีเอเวอรีแวร์ (TV Everywhere) คือ ผู้ให้บริการทีวีปกติ ให้บริการโอทีทีผ่านแอพพลิเคชั่นของตัวเอง

จะเห็นได้ว่า โอทีที วีดิโอ มีหลายประเภท และยังพัฒนาไปได้อีกมาก และตลาดเองก็เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ให้บริการเริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้นในการเพิ่มรายได้ทั้งจากค่าสมาชิกและค่าโฆษณา ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธ์อยู่มากก็ตาม

โดยหนึ่งในวิธีการที่ผู้ให้บริการใช้คือการลดต้นทุนด้านอื่นลง เพื่อให้มีทุนในการซื้อคอนเทนท์ที่น่าสนใจมากขึ้น ผู้ให้บริการหลายรายเลือกที่จะลดต้นทุนในส่วนของ “โครงสร้างพื้นฐาน” ลงโดยการนำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้งานเพิ่มขึ้น โดยโครงสร้างพื้นฐานผ่านคลาวด์ (IaaS) สามารถช่วยในผู้ให้บริการปรับเพิ่ม/ลด การใช้งานเซิร์ฟเวอร์หรือสตอเรจได้ตามปริมาณการใช้งานของผู้ใช้ในแต่ละช่วงเวลา ทำให้ 1.ไม่จำเป็นต้องลงทุนเบื้องต้นมากนัก และ 2.ได้ระบบที่มีความยืดหยุ่นสูง

แน่นอนว่าผู้ให้บริการ โอทีทีเหล่านี้ คือ digital disruptor ที่กำลังก้าวขึ้นมาท้าทายผู้เล่นหน้าเก่าในอุตสาหกรรม และบังคับให้ผู้เล่นรายเดิม ๆ ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไปในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มตัว