สัญญาณเตือน การศึกษาไทย

สัญญาณเตือน การศึกษาไทย

กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44

 สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศ สามารถเข้ามาตั้งสถาบันการศึกษาในไทยได้ ซึ่งขณะนี้เงื่อนไขและแรงจูงใจต่างๆยังไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดมากนัก แต่สถาบันการศึกษาที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งในระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวะศึกษา จะต้องเป็นสาขาที่ขาดแคลน และมีความต้องการสูงตามนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในการก้าวสู่ยุค 4.0

หากติดตามนโยบายประเทศไทย 4.0 มาตั้งแต่ต้น ก็จะเห็นว่าประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกมากล่าวถึงกันมากจากภาคเอกชน ทั้งคนไทยและต่างชาติ คือ ปัญหาบุคลากร ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทยมานาน จนมีภาคเอกชนบางรายเปิดสถาบันการศึกษาหรือเสนอขอเปิดหลักสูตรเพื่อรองรับความต้องการของตลาดจริงๆ นั่นชี้ให้เห็นว่าปัญหาใหญ่ของแวดวงการศึกษาไทยคือการผลิตคนไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานของประเทศ และยิ่งรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมประเภท 4.0 ก็ยิ่งมีปัญหามากขึ้น

แน่นอนว่ารัฐบาลย่อมมีมาตรการดูแลสถาบันการศึกษาในประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกันโดยตรง แต่การสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาย่อมเป็นสัญญาณเตือนสถาบันการศึกษาของไทยเองให้ต้องเร่งปรับคุณภาพหรือปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ามหาวิทยาลัยของรัฐหรือแม้แต่ระดับอาชีวะศึกษามีการปรับตัวตามทิศทางของตลาดแรงงานได้ช้ามาก ในขณะที่มีการผลิตคนในสาขาที่ไม่ต้องการออกมาจำนวนมาก

นโยบายนี้รัฐบาลมีเป้าหมายต้องการให้สถาบันการศึกษาต่างชาติ มาเปิดในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆที่รัฐบาลได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ และการใช้มาตรา 44 เร่งสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันการศึกษาย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องผลิตคนเพื่อรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นตามนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ และชี้ให้เห็นอีกว่ารัฐบาลเอาจริงกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่หวังว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่รองรับการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

จากนโยบายนี้เอง อาจกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของไทยต่างๆ ต้องเร่งปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้นอนาคต และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองจำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานของประเทศอย่างใกล้ชิดอีกด้วย เพราะอย่าลืมว่าการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเราไม่อาจนิ่งเฉยรอให้การเปลี่ยนแปลงในระดับโลกเข้ามากดดันแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ แต่จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังจะมาถึง

หากมองอีกด้าน การสนับสนุนให้สถาบันต่างชาติที่มีชื่อเสียง เข้ามาจัดตั้งในเมืองไทยนั้น อาจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมา เราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษามานานไม่รู้กี่รัฐบาล แต่เป็นเรื่องยากที่สุดของการปฏิรูปทั้งหมด และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าการศึกษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากน้อยแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวในด้านต่างๆของระบบการศึกษาอย่างไม่จบสิ้น

เมื่อมีสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศที่มีคุณภาพเข้ามาเปิดการเรียนการสอน อาจเป็นการกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาเร่งปรับปรุงตัวเอง เพราะเริ่มเห็นการแข่งขันเกิดขึ้น แม้ไม่ใช่สาขาวิชาเดียวกัน แต่เป็นการเปิดช่องให้เกิดทางเลือกและหากมีสถาบันมีชื่อมาเปิดจริงๆ คนไทยก็อาจได้รับรู้กันเสียทีว่าการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพนั้นเขาทำกันอย่างไรและเมื่อถึงเวลานั้น อาจเกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ให้กับการศึกษาของไทยจริงๆกันเสียที