การปะทะของสองกระแส

การปะทะของสองกระแส

การประชุมสุดยอดว่าด้วยโครงการนำร่องเส้นทางสายไหมที่กรุงปักกิ่ง ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวานนี้

(15 พ.ค.) ซึ่งในครั้งนี้ถือว่ามีผู้นำรัฐบาลและตัวแทนทั่วโลกต่างเข้าร่วมกันพร้อมหน้า โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แสดงความมุ่งมั่นด้วยการจัดสรรงบประมาณกว่า 4 ล้านล้านบาท ในการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนโยบายสำคัญนี้ โดยจีนหวังว่าการพัฒนาการค้าการลงทุนเท่านั้น ที่จะนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงให้กับโลก 

การทุ่มเทของรัฐบาลจีนครั้งนี้ต้องถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะความพยายามสร้างเครือข่ายทางการค้าการลงทุนในอดีตนั้น จีนไม่ใช่เป็นประเทศแรกที่มีนโยบายเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านั้นสหรัฐอเมริกาก็แสดงบทบาทดังกล่าวมาแล้วตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งผ่านความช่วยเหลือโดยตรงและเงินกู้จากสถาบันระดับโลก อย่างธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือโดยตรงในระดับรัฐบาล โดยหวังว่าจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลก

กล่าวโดยสรุปแล้ว นโยบายสร้างความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจ ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วและประเทศที่จะทำเช่นนั้นได้ มักจะเป็นประเทศมหาอำนาจทางการค้าและการเมืองโลกด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งความพยายามสร้างจักรวรรดิทางเศรษฐกิจที่มีการเชื่อมโยงเครือข่ายไปทั่วโลกนั้นยังไม่เคยประสบความสำเร็จ แม้ดูเหมือนว่าในระยะสั้นจะไปได้ดี แต่ในระยะยาวแล้วกลับล้มเหลวหรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ในการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจโลกที่เป็นหนึ่งเดียวและมีทิศทางเดียวกัน

ความล้มเหลวของการสร้างจักรวรรดิทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับโลก มีสาเหตุสำคัญมากจากความหลากหลายของประเทศต่างๆที่เข้าร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนั่นเอง ซึ่งจากความหลากหลายนี้เองทำให้เป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้ทุกประเทศเดินไปในทางเดียวกันได้ แม้ในครั้งนี้จีนไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะเป็นจักรวรรดิในความหมายเดิมๆที่มีอิทธิพลทางการค้าและการเมืองเหมือนมหาอำนาจในอดีต เพราะหากติดตามนโยบายของจีนดูเหมือนจะเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือและช่องทางการค้าเท่านั้น

ดังนั้นจีนจึงเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางสายไหม ส่วนใครจะได้หรือเสียเปรียบจากการพัฒนาเส้นทางดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังต้องติดตามต่อไปหากมีการพัฒนาตามนโยบายนี้จริง เพราะจีนอาจตระหนักว่าประเด็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้นโยบายนี้สำเร็จหรือล้มเหลวก็คือความร่วมมือจากทุกประเทศ ซึ่งจากติดตามนโยบายของจีนและย้อนกลับไปดูในอดีตแล้วจะเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายนักและอาจต้องใช้เวลายาวนานมาก และในยุคปัจจุบันยิ่งเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น

ความท้าทายสำคัญของนโยบายจีนคือกระแสหรือทิศทางของหลายประเทศในขณะนี้ คือมีนโยบายต่อต้านการค้าเสรีและหันไปใช้มาตรการปกป้องทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการค้าใหม่ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของจีนในขณะนี้ถือว่าเป็นคนละขั้วอย่างสิ้นเชิง และไม่เพียงแค่สหรัฐเท่านั้น หลายๆประเทศในยุโรปที่มีบทบาทสำคัญก็ปรากฏว่ามีคนเห็นด้วยกับนโยบายปกป้องทางการค้ามากขึ้น

จากนโยบายทางการค้าของสหรัฐและจีนที่อยู่คนละขั้วในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ระหว่างฝ่ายค้าเสรี แต่มีประเทศสังคมนิยมอย่างจีนเป็นแกนนำ และประเทศที่ต่อต้านการค้าเสรี แต่มีประเทศที่มีเสรีภาพเป็นแกนนำ ซึ่งกระแสใดจะเป็นฝ่ายชัยชนะนั้นยังไม่อาจตอบได้ เพียงแต่จากนี้ไปเราจะได้เห็นความขัดแย้งระหว่างสองแนวคิด ส่วนไทยเราจะอยู่ตรงไหนนั้นเป็นเรื่องท้าทายระดับนโยบายอย่างแท้จริงในอนาคตอันใกล้นี้