Digital Minimalism

Digital Minimalism

ในยุคปัจจุบันที่เรื่องของการทำงานร่วมกัน (Collaboration) และการสื่อสาร (Communication)

 เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการทำงานและความสำเร็จขององค์กร ในมุมกลับกันผู้บริหารและบุคลากรจำนวนมากกลับเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า C&C (Collaborative & communication) overload ที่เวลาทั้งวันเต็มไปด้วยการทำงานร่วมกัน และการสื่อสารจนขาดสมาธิในเชิงลึกในการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาชาวอเมริกันใช้เวลาในการทำงาน หรือประสานงานกับผู้อื่นมากขึ้นจากในอดีตถึง 50% และเวลาใน 1 วันของผู้บริหารนั้นกว่า 80% ใช้ไปกับการประชุม การเจอคนอื่น การตอบอีเมล และการคุยโทรศัพท์ นอกจากนี้ยังพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันคนหนึ่งจะใช้เวลาอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ถึงวันละ 118 นาที หรือ เกือบสองชั่วโมงต่อวัน

ถึงแม้ตัวเลขสถิติข้างต้นจะเป็นของชาวอเมริกัน แต่ก็เชื่อว่าของคนไทยคงจะไม่ต่างกันเท่าในด้านของเวลาที่ใช้ในการทำงานร่วมกันผู้อื่น และเวลาที่ใช้ในการอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์

ถึงแม้การทำงานและสื่อสารจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ทำให้ผู้บริหารและพนักงานเกิดมุมมองและทัศนคติใหม่เกี่ยวกับการทำงาน โดยมักจะมองว่าความวุ่นวาย (Busyness) เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงผลิตภาพ (Productivity) ในการทำงาน ถึงขั้นที่มี CEO (ของบริษัทที่ไม่ประสบความสำเร็จแห่งหนึ่ง) เคยกล่าวไว้ว่า “If you’re not visibly busy, I’ll assume you’re not productive.” CEO ท่านนี้ยกเลิกนโยบายการให้พนักงานทำงานจากบ้าน เนื่องจาก CEO ท่านนี้พบว่าพนักงานเข้าใช้อีเมลน้อยลงเมื่อทำงานจากบ้าน

ปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดในมุมกลับกันที่สนับสนุนในเรื่องของ Digital minimalism หรือการใช้อุปกรณ์หรือสื่อดิจิทัลให้น้อยสุด ซึ่งแตกต่างจาก Digital detox หรือ unplug ที่ให้หยุดหรือเลิกเสพอุปกรณ์​ และสื่อดิจิทัลเป็นการชั่วคราว

Digital minimalism เป็นการสนับสนุนให้คนใช้อุปกรณ์และสื่อดิจิทัลให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น แทนที่จะต้องเหลือบมองโทรศัพท์ทุกสิบนาที หรือขึ้นรถไฟฟ้าก็ก้มหน้าดูโทรศัพท์ตลอดเวลา เนื่องจากการรบกวนจากสื่อสังคมออนไลน์หรือ notification ต่างๆ แทนที่จะเป็นสิ่งที่ดีกลับทำให้คุณภาพและผลิตภาพของงานที่ทำลดน้อยลง

หนังสือขายดีเล่มหนึ่งที่สนับสนุนเรื่องนี้ชื่อ Deep Work เขียนโดย Cal Newport ได้ระบุไว้เลยว่า “การจะทำงานให้ได้ดี มีผลิตภาพและคุณภาพนั้น จะต้องใช้เวลาและสมาธิทุ่มอยู่กับงานเพียงแค่อย่างเดียวโดยปราศจากสิ่งรบกวน” 

หมายความว่าถ้าอยากเห็นงานที่ทำออกมาดีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เราก็ควรจะทุ่มเวลาและสมาธิให้กับงานชิ้นนั้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรจะได้รับการรบกวนใดๆ ระหว่างการทำงานชิ้นดังกล่าว และไม่ควรจะเปลี่ยนงานไปมาตลอดเวลา ถึงขั้นที่ในหนังสือเล่มดังกล่าวมีสูตรของการทำงานออกมาเลยว่า High Quality Work Produced = (Time Spent) x (Intensity of Focus)

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็ไปสอดคล้องกับผลวิจัยของอาจารย์อีกคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัย Minnesota ที่บอกว่าเมื่อเราเปลี่ยนจากการทำงานชนิดหนึ่งไปสู่อีกชนิดหนึ่ง จะมีสิ่งที่เรียกว่า Attention Residue หลงเหลืออยู่ นั้นคืองานชิ้นเดิมก็ยังไม่ได้ถูกลบออกไปจากสมองเรา ทำให้สมองหรือสมาธิของเราไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานชิ้นใหม่ได้อย่างเต็มที่

ดังนั้นการเปลี่ยนงานที่ทำไปมาอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มี attention residue เหลืออยู่ และทำให้ไม่สามารถที่จะทำให้คุณภาพของงานต่างๆ ออกมาดีได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมถ้ากำลังนั่งทำงานอยู่แล้วมี notification ขึ้นมาที่หน้าจอโทรศัพท์ เมื่อเหลือบไปดูแล้วกลับมาทำงานเดิมที่คั่งค้างอยู่ จะทำให้สมาธิหรือความมุ่งมั่นไม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากมี attention residue ที่ยังหลงเหลืออยู่จากข้อความบนโทรศัพท์ที่ปรากฎขึ้น

ดังนั้นลองนำแนวคิดเรื่องของ Digital Minimalism มาใช้ดูนะครับ รวมทั้งอย่าลืมว่าถ้าอยากจะให้งานออกมาดี ต้องมีสมาธิกับงานชิ้นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง